เลขที่หนังสือ | : กค 0811(กม.06)/1025 |
วันที่ | : 19 มิถุนายน 2543 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 42(17), มาตรา 48 (5) |
ข้อหารือ | : สำนักงานสรรพากรจังหวัดได้รับแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2542 ของ ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ออกจากงานตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด จึงหารือ การคำนวณภาษีเงินได้สำหรับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานว่าความเห็นของ จังหวัดฯ ถูกต้องหรือไม่ ดังนี้ 1. เงินบำเหน็จของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ฯลฯ กรณีพนักงานลาออกตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดและกรณีพนักงาน เกษียณอายุ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดที่ใช้วิธีการคำนวณบำเหน็จตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับ วิธีการคำนวณบำเหน็จ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จข้าราชการได้ทั้งหมด ถือว่าเงินบำเหน็จดังกล่าวเป็น เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตามข้อ 1(ก) จึงถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามข้อ 1(ง) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 2. กรณีผู้มีเงินได้ได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้ายไม่เต็มเดือนเนื่องจากลาออกก่อน เกษียณอายุ เช่น อัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ออกจากงานเดือนพฤษภาคม 2542 คือ 49,910 บาท แต่เนื่องจากลาออกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 เงินเดือนเดือนพฤษภาคม 2542 จึงได้รับเพียง 29 วัน เป็นเงิน 46,690 บาท เงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ใช้ในการคำนวณค่าใช้จ่าย คือ 46,690 บาท 3. เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากเกษียณอายุโดย เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีอายุงานไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษี ทั้งจำนวน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 36 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 |
แนววินิจฉัย | : กรณีตาม 1. ถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ตามนัยข้อ 1(ง) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 กรณีตาม 2. ความเห็นของจังหวัดฯ ยังคลาดเคลื่อนอยู่ ในกรณีผู้มีเงินได้ได้รับ เงินเดือนเดือนสุดท้ายไม่เต็มเดือน เนื่องจากลาออกก่อนเกษียณอายุ เงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ใช้ใน การคำนวณค่าใช้จ่าย หมายความถึงจำนวนเงินเดือนสำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้าย ทั้งนี้ ตาม นัย ข้อ 3(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ดังนั้น อัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ออกจากงานที่นำมาคำนวณค่าใช้จ่ายคือจำนวน 49,910 บาท กรณีตาม 3. เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานของหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อ ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำรวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2(36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 นั้น ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และ (ก) เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมา แล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ (ข) เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในระหว่างวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 และได้ออกจากงาน เพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งมีระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างนั้นก่อน เกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งนี้ ตามข้อ 1(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 |
เลขตู้ | : 63/29504 |