เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/5850
วันที่: 20 กรกฎาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีอสังหาริมทรัพย์ในการปฏิรูปที่ดินถูกเวนคืน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(17), กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) พ.ศ. 2509, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534)
ข้อหารือ: กรมทางหลวงได้ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนแยกทางหลวง
แผ่นดินหมายเลข 34 (บางพลี) - บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (วังน้อย) พ.ศ. 2536 และ
ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 352 สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 (มีนบุรี) - บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข
309 (วังน้อย) ตอนอำเภอลำลูกกา บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309 สายวังน้อยสิงห์บุรีที่อำเภอ
วังน้อย พ.ศ. 2537 ปรากฏว่าแนวทางที่ถูกเวนคืนตัดผ่านที่ดินของเกษตรกร ซึ่งได้กรรมสิทธิ์ตาม
สัญญาเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 เกษตรกรผู้เป็น
เจ้าของที่ดินไม่สามารถขอรับเงินค่าทดแทนจากกรมทางหลวงได้ เนื่องจากที่ดินตกอยู่ภายใต้บังคับ
ห้ามโอนไปยังผู้อื่นตามมาตรา 39 พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 สำนักงาน
การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกรมทางหลวง จึงได้ร่วมหาทางแก้ไขโดยให้เกษตรกร
โอนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษตัดผ่านคืนให้ ส.ป.ก. เพื่อให้กรมทางหลวงดำเนินการ
สร้างทางหลวงตามพระราชกฤษฎีกาฯและ ส.ป.ก. จ่ายเงินค่าทดแทนซึ่งได้รับจากกรมทางหลวงทั้ง
จำนวนให้แก่เกษตรกร กรมทางหลวงขอทราบว่าเกษตรกรมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้และ
ภาษีธุรกิจเฉพาะ จากเงินค่าทดแทนที่ได้รับกรณีโอนที่ดินดังกล่าวคืน ส.ป.ก. หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงที่ดินของเกษตรกรตั้งอยู่ในเขตที่ดินบริเวณที่มีการเวนคืนตามกฎหมาย
ซึ่งรัฐมีอำนาจออกกฎหมายเวนคืนได้ แต่เกษตรกรไม่สามารถโอนให้โดยตรงได้ เนื่องจากเป็นการขัด
ต่อมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 จำต้องโอนอสังหาริมทรัพย์
ผ่าน ส.ป.ก. ซึ่งเป็นการโอนโดยผลของกฎหมายเวนคืน จึงถือได้ว่า ค่าตอบแทนที่เกษตรกรได้รับเป็น
เงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะที่ดินที่ต้องเวนคืนและ
อสังหาริมทรัพย์อื่นบนที่ดินที่ต้องเวนคืน จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามข้อ 2(29) แห่งกฎกระทรวง
ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง
ฉบับที่ 184 (พ.ศ. 2533)ฯ ลงวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2533 และไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
เนื่องจากไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3(6) แห่ง
พระราชกฤษฎีกาฯว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
สำหรับการโอนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2542 หรือตามมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
342) พ.ศ. 2541 สำหรับการโอนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป
เลขตู้: 63/29573

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020