เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/5852
วันที่: 19 กรกฎาคม 2543
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(6), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
ข้อหารือ: นาย ก. ได้ซื้อที่ดินจำนวน 2 โฉนด เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2531 ต่อมาได้ยินยอมให้
บุตรชอบด้วยกฎหมายเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว ดังนี้
1. วันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ยินยอมให้นาวาอากาศตรี ธ. และเรืออากาศเอก อ.
บุตรชาย ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 75 ส่วน ในจำนวน 150 ส่วน
2. วันที่ 27 ธันวาคม 2537 ยินยอมให้นาวาอากาศโทหญิง ช. และนาวาอากาศโทหญิง
ว. บุตรสาว ถือกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของ นาย ก.
การยินยอมให้บุตรเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน เนื่องจาก นาย ก. ประสงค์จะให้บุตรชาย
ทั้ง 2 คน ร่วมกันกู้เงินจากธนาคารเพื่อก่อสร้างบ้านพักอาศัยในที่ดินดังกล่าวโดยนำที่ดินไปค้ำประกันด้วย
แต่หลังจากที่โอนที่ดินทางทะเบียนแล้วนาย ก.ได้ไปติดต่อขอกู้เงินกับธนาคาร ซึ่งธนาคารแจ้งว่า รายได้
ของบุตรชายทั้ง 2 คน ไม่เพียงพอต่อวงเงินที่จะกู้ นาย ก. จึงก่อสร้างบ้านพักอาศัยตามงบประมาณ
เท่าที่มีอยู่โดยมิได้ใช้เงินกู้จากธนาคาร และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2537 นาย ก. ได้ยินยอมให้
บุตรสาวอีก 2 คน เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินเฉพาะส่วนของ นาย ก. เพราะต้องการให้บุตรทุกคนมี
กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นบ้านพักอาศัย ซึ่งการยินยอมให้บุตรถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว นาย ก.
ไม่ได้รับเงินได้หรือค่าตอบแทนใด ๆ จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณายกเว้นการเก็บภาษีจากการ
ดำเนินการดังกล่าว
แนววินิจฉัย: คำว่า “ขาย” ตามบทนิยามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นบทบังคับใน
การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น หมายความรวมถึงการให้ หรือจำหน่ายจ่ายโอนไม่ว่าจะมีประโยชน์
ตอบแทนหรือไม่ กรณีตามข้อเท็จจริงจึงแยกพิจารณาได้ ดังนี้
1. กรณีตาม 1. การที่ นาย ก. โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนให้กับบุตรชายทั้ง 2 คน
โดยไม่มีค่าตอบแทน ถือเป็นการขายตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากเป็นการ
โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ซื้อที่ดินมาไม่ถึงห้าปี จึงอยู่ใน
บังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
อนึ่ง กรณีขอให้พิจารณายกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ไม่มีบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรที่จะให้ยกเว้น
ภาษีธุรกิจเฉพาะได้ แต่กรณีมีเหตุอันควรได้รับการผ่อนผัน จึงงดเบี้ยปรับภาษีธุรกิจเฉพาะให้ตามที่ร้องขอ
2. กรณีตาม 2. การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของนาย ก.ให้กับบุตรสาวทั้ง 2 คน
ถือเป็นการขายตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ได้กระทำเกินห้าปีนับแต่วันที่ นาย ก.
ซื้อที่ดินมา จึงมิใช่เป็นการขาย อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามข้อ 3 (6) แห่ง
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็น
ทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 การโอนที่ดินดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด
อนึ่ง กรณีการโอนกรรมสิทธ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตร
ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวตาม 1. และ 2. นั้น ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม
มาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับข้อ 2 (18) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.
2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง
ฉบับที่ 155 (พ.ศ. 2525)ฯ
เลขตู้: 63/29575

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020