เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.06)/1122
วันที่: 7 กรกฎาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินค่าบริการฝากทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (13), มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2(1)
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้า และอะไหล่รถยนต์ทั้งขายปลีกและขายส่ง
ให้บริการซ่อมและพ่นสีรถยนต์ รถยนต์ที่จำหน่ายส่วนใหญ่ บริษัทฯ จะซื้อจากบริษัท ก. จำกัด ซึ่งเป็น
ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าให้แก่บริษัทฯ แต่ผู้เดียว โดยทั้งสองฝ่ายจะตกลงประมาณการปริมาณการ
ซื้อและการผลิตในแต่ละช่วงเวลาต่อมากลางปี พ.ศ. 2540 ภาวะเศรษฐกิจถดถอย บริษัทฯ จำหน่าย
รถยนต์ไม่ได้ตามที่ประมาณการไว้ ทำให้ไม่สามารถรับมอบรถยนต์จากผู้ผลิตได้ จึงตกลงให้ผู้ผลิตเป็น
ผู้รับผิดชอบดูแลรักษารถยนต์ดังกล่าวแทนบริษัทฯจนกว่าบริษัทฯ จะสามารถรับมอบรถยนต์ได้ โดยผู้ผลิตจะ
คิดค่าตอบแทนในการดูแลรักษารถยนต์จากบริษัทฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเรียกค่าตอบแทนนี้ว่า “ค่าเสียหาย”
บริษัทฯ หารือว่า
(1) บริษัทฯ สามารถนำเงินค่าเสียหายไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม
ประมวลรัษฎากรได้หรือไม่
(2) ผู้ผลิตซึ่งเรียกเก็บค่าเสียหายดังกล่าว มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและ
ออกใบกำกับภาษีหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ประเด็นการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ตกลงซื้อขาย
บริษัทฯ กับบริษัท ก. จำกัด ได้ตกลงซื้อขายรถยนต์โดยประมาณการปริมาณการซื้อและ
การผลิตในแต่ละช่วงเวลา กล่าวคือ ผู้ผลิตจะต้องผลิตรถยนต์จำหน่ายให้บริษัทฯ และบริษัทฯ จะต้องซื้อ
รถยนต์จากผู้ผลิตตามจำนวนที่ประมาณการไว้ กรณีดังกล่าวถือว่ามีสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นแล้วแต่กรรมสิทธิ์ใน
สินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อตามมาตรา 458 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากทรัพย์สินที่ซื้อ
ขายยังมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนจนกว่าจะได้ผลิตแล้วเสร็จ อันเป็นการบ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกมาเป็นจำนวน
ที่แน่นอนแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจึงจะโอนมายังผู้ซื้อตามมาตรา 460 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น บริษัทฯ จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าว เมื่อผู้ผลิตผลิต
รถยนต์แล้วเสร็จ
2. ประเด็นค่าตอบแทนในการดูแลรักษารถยนต์
กรณีบริษัทฯ ตกลงให้ผู้ผลิตดูแลรักษารถยนต์ของบริษัทฯ จนกว่าจะรับมอบได้ในอนาคต
ถือว่าบริษัทฯ (ผู้ฝาก) ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ผลิต (ผู้รับฝาก) และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษา
ทรัพย์สินไว้ในอารักขาของตนแล้วจะคืนให้ อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ตามมาตรา 657 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น
(1) กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินให้แก่ผู้ผลิตเป็นค่าตอบแทนในการรับดูแลรักษารถยนต์ ถือ
เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ
กำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีผู้ผลิตรับดูแลรักษารถยนต์ให้บริษัทฯ เป็นการให้บริการรับฝากทรัพย์ตาม
มาตรา 657 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10)
แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ผลิตซึ่งรับฝากทรัพย์จึงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา
86 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29588

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020