เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.6191
วันที่: 27 กรกฎาคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าขายทอดตลาดของตกค้างและสินค้าที่กรมศุลกากรกักหรือยึด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/4
ข้อหารือ: การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือขอให้กรมศุลกากรชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ
10 ของค่าภาระติดพันที่กรมศุลกากรจ่ายให้การท่าเรือฯ กรณีขายทอดตลาดของกลางและของตกค้างที่
กรมศุลกากรยึดสินค้าจากผู้นำเข้า เนื่องจากการท่าเรือฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จึงเรียกเก็บ
ภาษีขายจากผู้รับบริการ แต่กรมศุลกากรได้มีหนังสือแจ้งให้การท่าเรือฯ ทราบว่า เนื่องจากกรมศุลกากร
เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ไม่ใช่ผู้ใช้บริการของการท่าเรือฯ
กรมศุลกากรไม่สามารถชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าภาระติดพันให้แก่การท่าเรือฯ ได้ การท่าเรือฯ จึง
หารือว่า การท่าเรือฯ สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าภาระติดพันกับกรมศุลกากรได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรมศุลกากรเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ใน
การขายทอดตลาดของกลางและของตกค้าง ไม่ใช่ผู้ใช้บริการของการท่าเรือฯ แต่กรมศุลกากรมีหน้าที่จะ
ต้องชำระค่าภาระติดพันในส่วนของค่าบริการของการท่าเรือฯ ที่ติดอยู่กับตัวสินค้า หลังจากหักค่าใช้จ่าย
ต่าง ๆ ของกรมศุลกากรแล้ว ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 63 ตาม พ.ร.บ. ศุลกากรดังกล่าว เมื่อการท่าเรือฯ
เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนค่าบริการที่การท่าเรือฯ เรียกเก็บจึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดย
เรียกเก็บภาษีจากผู้รับบริการ ตามนัยมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนค่าบริการที่การท่าเรือฯ
เรียกเก็บจะเป็นค่าบริการที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างการท่าเรือฯ กับ
ผู้รับบริการ
เลขตู้: 63/29601

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020