เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/6197
วันที่: 27 กรกฎาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42 (17), กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ฯ (ฉบับที่ 70) พ.ศ. 2541
ข้อหารือ: นาง ส. เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้หารือเกี่ยวกับ
การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีที่ได้รับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ จากกองทุนอัน
ได้แก่ เงินประเดิม เงินสมทบเงินชดเชย และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว รวมทั้งผลประโยชน์ของ
เงินสะสมที่สมาชิกได้รับจากกองทุนเมื่อออกจากราชการเพราะเหตุสูงอายุ เหตุทุพพลภาพ เหตุทดแทน
จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยไม่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตาม
ข้อ 2(44) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 208
(พ.ศ. 2540)ฯ แต่ในบทบัญญัติประมวลรัษฎากร มาตรา 48(5) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมินที่ได้
รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจะต้องคำนวณและหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงหารือว่า
1. เงินที่ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กรณีใดบ้างถึงจะต้องหัก
ภาษี ณ ที่จ่าย
2. เมื่อต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 1 แล้วจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ประจำปีภาษีที่ได้รับในใบแนบหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้รับจากกองทุนฯ
จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เว้นแต่กรณีเข้าหลักเกณฑ์
ตามที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 70)ฯ ลงวันที่ 19 มกราคม
2541 จึงจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและถูกหักภาษี
ณ ที่จ่าย ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ก็ได้ หากเข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24
กันยายน 2535 โดยกรอกรายการในใบแนบแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91
เลขตู้: 63/29607

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020