เลขที่หนังสือ | : กค 0811/6260 |
วันที่ | : 28 กรกฎาคม 2543 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีวิธีรับรู้รายได้และรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบธุรกิจด้านการตลาดและการจำหน่ายโปรแกรมข้อมูลเพื่อการบริหาร รวมทั้งการให้บริการด้าน เทคนิค ให้คำปรึกษาและให้การอบรมแก่ลูกค้า ในปี 2542 บริษัทแม่ของบริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเยอรมันมีนโยบายที่จะนำหุ้นของตน เข้าไปเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ในการกระทำดังกล่าวบริษัทแม่ของบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ โดยมีเงื่อนไข ประการหนึ่งกำหนดว่า บริษัทที่จะนำหุ้นของตนเข้าไปเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์จะต้องจัดทำงบการเงิน ของบริษัทและบริษัทในเครือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์บัญชี US GAAP ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับระบบ การบัญชีของบริษัทแม่ บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขวิธีการรับรู้รายได้และรายจ่ายของบริษัทฯ จากการใช้เกณฑ์สิทธิที่กำหนดไว้สำหรับกิจการทั่วไปตามหลักการบัญชีที่เป็นที่รับรองโดยทั่วไปของ ประเทศไทย (Thai GAAP) มาเป็นเกณฑ์สิทธิที่กำหนดไว้สำหรับกิจการจำหน่ายและให้บริการเกี่ยวกับ software โดยเฉพาะตามหลักเกณฑ์บัญชี US GAAP สำหรับการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นไป สำหรับกรณีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น บริษัทฯ มีความเข้าใจว่า เนื่องจากมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ได้วางแนวปฏิบัติให้บริษัทใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่าย แต่มิได้กำหนด วิธีการบันทึกรายได้และรายจ่ายสำหรับกิจการจำหน่ายและให้บริการเกี่ยวกับ software ไว้โดยเฉพาะ โดยทั่วไปจะใช้วิธีการบันทึกรายได้และรายจ่ายที่กำหนดไว้ในหลักการบัญชีที่เป็นที่รับรองโดยทั่วไปของ ประเทศไทย (Thai GAAP) อย่างไรก็ตาม หลักการบัญชีที่เป็นที่รับรองโดยทั่วไปของประเทศไทยก็มิได้ กำหนดวิธีการบันทึกรายได้และรายจ่ายสำหรับกิจการจำหน่ายและให้บริการเกี่ยวกับ software เอาไว้ อีกเช่นกัน ในขณะที่กรณีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น มีกฎหมายกำหนดรองรับ ไว้ว่า ถ้าหลักการบัญชีที่เป็นที่รับรองโดยทั่วไปของประเทศไทยไม่ได้วางหลักเกณฑ์ของประเด็นใดไว้ ให้ นำมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับระหว่างชาติ (International Accepted Standard = IAS) มาใช้ สำหรับประเด็นนั้น แต่ถ้า IAS ก็ไม่ได้วางหลักเกณฑ์ไว้อีกเช่นกัน ก็ให้นำหลักเกณฑ์บัญชี US GAAP มา ใช้ก็ได้ ดังนั้น โดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่วางไว้สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยดังกล่าวบริษัทฯ จึงขอทราบว่า เมื่อไม่ปรากฏหลักการบัญชีที่เป็นที่รับรองโดยทั่วไปของ ประเทศไทยหรือ IAS ที่กำหนดวิธีการบันทึกรายได้และรายจ่ายสำหรับกิจการจำหน่ายและให้บริการ เกี่ยวกับ software บริษัทฯ จึงสามารถนำหลักเกณฑ์ของ US GAAP มาใช้ในการบันทึกรับรู้รายได้กรณี จำหน่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยให้บริการหลังการขายแบบไม่คิดมูลค่า เพื่อคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : ในการบันทึกรับรู้รายได้รายจ่ายเพื่อประโยชน์ทางด้านภาษีอากร บริษัทฯ ต้องใช้เกณฑ์สิทธิ ในการคำนวณรายได้และรายจ่ายในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ดังนั้น บริษัทฯ จะนำหลักเกณฑ์ของ US GAAP มาใช้ในการบันทึกรับรู้รายได้กรณีจำหน่าย โปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยให้บริการหลังการขายแบบไม่คิดมูลค่า เพื่อคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้ |
เลขตู้ | : 63/29620 |