เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.ก.338 |
วันที่ | : 11 กันยายน 2543 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินทดรองจ่าย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 82/5(3) |
ข้อหารือ | : 1. บริษัท A. จำกัด ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.01 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2534 โดยระบุว่าประกอบกิจการให้บริการด้วยเครื่องเฮลิคอปเตอร์ บริการส่วนใหญ่คือรับส่ง ของด้วยเฮลิคอปเตอร์ 2. เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2538 บริษัทฯ ทำสัญญาเช่าเฮลิคอปเตอร์ แบบแอโรสเปเชียล 355 N เลขรุ่น 5582 จากบริษัท B. (สิงคโปร์) จำกัด เป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้บริษัท B. (ประเทศไทย) จำกัด เช่า เนื่องจากบริษัท B. (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นโดยชาวต่างชาติไม่ สามารถทำการบินในประเทศไทยได้ บริษัทฯ นำเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2538 โดยผ่านพิธีการศุลกากร และชำระภาษีอากรขาเข้า จำนวน 458,943 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 3,244,731 บาท รวม 3,703,674 บาท ใบขนสินค้าขาเข้าและใบเสร็จรับเงินจากกรมศุลกากร ปรากฏชื่อบริษัทฯ เป็นผู้นำเข้า บริษัทฯ ได้บันทึกค่าอากรขาเข้าและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินทดรองจ่าย และได้รับค่าภาษีดังกล่าวคืนจากบริษัท B. (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2538 และ หากบริษัทฯ ได้รับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคืนจากกรมสรรพากร บริษัทฯ จะต้องนำเงินส่วนนี้คืนบริษัท B. (ประเทศไทย) จำกัด ด้วย 3. บริษัทฯ ยื่นแบบ ค.10 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจาก การนำเข้าเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าว |
แนววินิจฉัย | : บริษัท A. จำกัด ประกอบกิจการให้บริการด้วยเครื่องเฮลิคอปเตอร์ ได้ทำสัญญาเช่า เฮลิคอปเตอร์แบบแอโรสเปเชียล 355N เลขรุ่น 5582 จากบริษัท B. (สิงคโปร์) จำกัด เป็นเวลา 5 ปี เพื่อนำมาให้บริการทางอากาศแก่บริษัท B. (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทฯ ตกลงจะจัด เฮลิคอปเตอร์ให้อยู่ในสภาพเตรียมพร้อม ลานขึ้นลงเฮลิคอปเตอร์เป็นไปตามที่บริษัท B. (ประเทศไทย) จำกัด กำหนด เพื่อให้บริการทางอากาศตามที่บริษัท B. (ประเทศไทย) จำกัด ร้องขอ โดยบริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือการสูญเสียใด ๆ ที่เกิดแก่ผู้โดยสารของ บริษัท B.(ประเทศไทย) จำกัด หรือบุคคลภายนอกในระหว่างการให้บริการ ทั้งนี้ บริษัท B. (ประเทศไทย)จำกัด ตกลงจะ ชำระค่าบริการในการบินซึ่งมีทั้งค่าบริการมาตรฐานคงที่รายเดือน และค่าบริการมาตรฐานผันแปรตาม ชั่วโมงการบิน การให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินตามมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้เช่าเฮลิคอปเตอร์ ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าเฮลิคอปเตอร์ จึงเป็นภาษีซื้อที่นำมาใช้ในกิจการที่ต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงมีสิทธิขอคืนภาษีซื้อดังกล่าวได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่ง ประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีที่บริษัทฯ นำค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าดังกล่าวมาบันทึกบัญชีเงินทดรองจ่ายนั้น บริษัทฯ ได้ให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เป็นการเข้าใจผิดของพนักงานบัญชีความจริงเงินดังกล่าวบริษัทฯ ขอให้บริษัท B. (ประเทศไทย) จำกัด ช่วยทดรองจ่ายล่วงหน้าให้ก่อน เนื่องจากขณะที่นำเข้า เฮลิคอปเตอร์ บริษัทฯ ไม่ได้เตรียมสำรองเงินค่าภาษีไว้ ซึ่งบริษัทฯ ได้ทยอยผ่อนชำระเงินคืนให้ บริษัท B. (ประเทศไทย) จำกัด และคืนครบถ้วนแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2542 ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า เฮลิคอปเตอร์ที่บริษัทฯ จ่ายไป จึงมิใช่จ่ายทดรองแทนผู้อื่นไปก่อน เป็นเพียงแต่ยืมเงินผู้อื่นมาจ่ายเท่านั้น และเมื่อเงินที่บริษัท B. (ประเทศไทย) จำกัด จ่ายให้บริษัทฯ เป็นเงินกู้ยืม จึงไม่ต้องนำมาเป็นรายได้ ของบริษัทฯ |
เลขตู้ | : 63/29785 |