เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.348
วันที่: 12 กันยายน 2543
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีท้องถิ่น กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มีการถือกรรมสิทธิ์รวม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(6)
ข้อหารือ: สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้มีหนังสือ เตือนให้ยื่นแบบเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขาย
ที่ดินตามโฉนด เนื้อที่ 22 ตารางวา ซึ่งนาง ก. ได้ซื้อที่ดินจากนางสาว ข. เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม
2534 โดยนาง ก. มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพียงคนเดียวซึ่งนาง ก. ประสงค์จะซื้อให้นาง ค.(มารดา) แต่
ไม่มีเวลาไปโอนทางทะเบียน จึงให้มารดาเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นบนที่ดิน และเป็นผู้
ยื่นคำขอมีเลขหมายประจำบ้านดังกล่าวต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนนทบุรี ต่อมานาง ก. และ
มารดาได้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยผู้ซื้อประสงค์จะเข้าอยู่ทันทีแต่ไม่สามารถโอนทาง
ทะเบียนได้เนื่องจากกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นคนละชื่อกัน จะต้องปิดประกาศเป็นเวลา 30
วันตามกฎหมาย เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้แนะนำให้นาง ก. โอนที่ดินบางส่วนให้มารดา โดยมีค่าตอบแทน
(ขาย) ซึ่งนาง ก. ได้กระทำตามคำแนะนำ โดยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2540 ได้ยินยอมให้มารดาถือ
กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจำนวน 10 ส่วน ในจำนวน 22 ส่วน และแจ้งในบันทึกข้อตกลงฯ ว่า ได้รับ
ค่าตอบแทนเป็นเงิน 180,000 บาท ซึ่งในวันเดียวกันนั้นนาง
ก. และมารดาได้โอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนให้กับผู้ซื้อ คือ นาย ง. และนาย จ. พร้อมทั้ง
ชำระภาษีทุกขั้นตอนที่มีการโอนไว้แล้ว จึงหารือว่า
1. การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ หากต้องเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องคำนวณจากรายรับทั้งหมด หรือเฉพาะที่ถือกรรมสิทธิ์รวม (10 ส่วน ใน 22 ส่วน)
2. อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้มีการโอนกรรมสิทธิ์แล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2540 ดังนั้น ผู้
ที่มีหน้าที่เสียภาษีท้องถิ่นตามที่เจ้าพนักงานสรรพากรแจ้งไว้ ควรเป็นผู้ขายหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์หลังจากวันที่
21 สิงหาคม 2540
แนววินิจฉัย: 1. ตาม 1. ในวันที่ 21 สิงหาคม 2540 ได้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใน
อสังหาริมทรัพย์โฉนดเดียวกัน 2 กรณี คือ
1.1 กรณีที่นาง ก. ยินยอมให้มารดา ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินบางส่วนเฉพาะที่ดิน
สิ่งปลูกสร้าง (10 ส่วน ใน 22 ส่วน) โดยมีค่าตอบแทน ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำเกิน
5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ไม่ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่
อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา
3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็น
ทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
1.2 กรณีที่นาง ก. และมารดา ได้โอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งสิ้นให้กับนาย ง.และนาย
จ. ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีการถือกรรมสิทธิ์รวมจากการที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ให้บุคคลอื่น
เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในภายหลัง ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยแยกรายรับตามส่วน
ของแต่ละคนที่มีส่วนอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวม ทั้งนี้ ตามข้อ 7 (1) ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.82/2542 เรื่อง การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็น
ทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
ดังนั้น การโอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงต้องแยกรายรับตามส่วนของกรรมสิทธิ์ที่ถือครอง ดังนี้
1.2.1 รายรับจากการขายที่ดินในส่วนของนาง ก. (12 ส่วนใน 22 ส่วน) ถือเป็น
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำเกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ไม่ถือเป็น
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
เช่นเดียวกับข้อ 1.1
1.2.2 รายรับจากการขายสิ่งปลูกสร้างและที่ดินในส่วนของนาง ค. (10 ส่วนใน 22 ส่วน)
ซึ่งสิ่งปลูกสร้างและที่ดินดังกล่าว นาง ค. ได้มาไม่พร้อมกันกำหนดเวลา 5 ปี ต้องถือตามระยะเวลา
การได้มาซึ่งสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินที่ได้มาในภายหลัง โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่นาง ค.ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ใน
ที่ดิน คือ วันที่ 21 สิงหาคม 2540 ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำ
ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ อยู่ในบังคับของมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 244) ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับจากการขายสิ่งปลูกสร้างและที่ดินเฉพาะส่วนที่นาง ค.
ถือครอง โดยใช้ราคาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและ
นิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่มากกว่าราคาตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน ทั้งนี้ ตาม
มาตรา 91/2(6) และมาตรา 91/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ตาม 2. กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหากำไร นอกจากจะอยู่ในบังคับที่ต้อง
เสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ยังคงต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตาม
มาตรา 112 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ดังนั้น มารดา
ของนาง ก. ซึ่งเป็นผู้ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร และมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จึง
ต้องเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะตามข้อ 1.2.2 ด้วย
เลขตู้: 63/29786

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020