เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.ก.516
วันที่: 15 กันยายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งออกน้ำมัน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 80/1
ข้อหารือ: 1. บริษัท A. จำกัด จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2534 ระบุว่า
ประกอบกิจการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมสำหรับเครื่องบิน และซื้อมาขายไป
2. บริษัทฯ ประกอบกิจการขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ประกอบการให้บริการขนส่งทั้งในและ
ต่างประเทศโดยการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงลงในเครื่องบิน ซึ่งในกรณีที่เติมน้ำมันลงในเครื่องบินสำหรับ
สายการบินที่จะบินออกนอกประเทศ ถือว่าเป็นการส่งออกน้ำมันได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
3. เจ้าพนักงานสรรพากรได้ตรวจเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีของบริษัทฯ พบว่า
ใบรับการส่งน้ำมันสำหรับเดือนเมษายน 2540 มิได้มีการลงนามรับรองของเจ้าพนักงานศุลกากร ว่ามี
การเติมน้ำมันลงในเครื่องบินซึ่งได้รับอนุญาตให้บินไปต่างประเทศซึ่งบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า เดิม
เจ้าพนักงานศุลกากรจะลงนามรับรองใบรับการส่งน้ำมันดังกล่าวให้บริษัทฯ ทุกครั้ง ต่อมาตั้งแต่เดือน
ตุลาคม 2538 ได้มีข้อพิพาทกรณีการชำระเงินค่าธรรมเนียมล่วงเวลาระหว่างบริษัทฯกับกรมศุลกากร
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2540 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2540 เจ้าพนักงานศุลกากรจึงมิได้ลงนาม
รับรองในใบรับการส่งน้ำมันให้แก่บริษัทฯ อีกเลย
4. บริษัทฯ ได้ขอหนังสือรับรองการส่งออกจากกรมศุลกากร และกรมศุลกากรได้มีหนังสือตอบ
ให้บริษัทฯ ทราบลงวันที่ 16 กันยายน 2541 ว่า“ไม่อาจที่จะรับรองเอกสารใบรับน้ำมัน (DELIVERY
RECEIPT) ให้กับบริษัทฯ ตามที่ขอมาได้ เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่ได้นำเงินมาชำระค่าธรรมเนียม
ล่วงเวลาที่ค้างชำระอยู่กับสำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพให้หมดสิ้น”
5. เจ้าพนักงานสรรพากรได้มีหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงของบริษัทฯจากสำนักงานศุลกากร
ท่าอากาศยานกรุงเทพ ซึ่งได้รับคำตอบลงวันที่ 11 ธันวาคม 2541 ว่า “สำนักงานศุลกากร
ท่าอากาศยานกรุงเทพ ตรวจสอบแล้วไม่ปรากฏว่า บริษัทฯ ได้มีการยื่นเอกสารขอปฏิบัติพิธีการให้
พนักงานศุลกากรไปทำการตรวจสอบและรับรอง ชนิด และปริมาณของน้ำมันที่ได้ใช้เติมอากาศยานที่
เดินทางไปต่างประเทศแต่อย่างใด”
6. บริษัท ฯ ชี้แจงว่า จะได้หลักฐานของกรมศุลกากรที่แสดงว่าผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงได้จัดทำ
ใบอนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นอากาศยานมาโดยการที่บริษัทฯ จัดทำใบรับการส่งน้ำมันเมื่อมีการนำน้ำมัน
เติมลงในเครื่องบินที่จะบินออกนอกประเทศ เมื่อถึงสิ้นเดือน บริษัทฯจะรวบรวมใบรับการส่งน้ำมันทั้งหมด
ส่งไปให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เพื่อ ปตท.จะนำส่งให้กรมศุลกากรลงนามรับรอง ซึ่ง
ถือว่า ปตท.ได้จัดทำใบอนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นอากาศยานแล้ว แต่เนื่องจากตั้งแต่เดือนตุลาคม
2538 เจ้าพนักงานศุลกากรไม่ลงนามรับรองใบรับน้ำมันให้ แม้ว่าทาง ปตท. จะได้ติดตามเรื่องมา
โดยตลอด จึงทำให้บริษัทฯ ขาดหลักฐานดังกล่าว
แนววินิจฉัย: ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษี
สรรพสามิตจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และได้ขายน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการ
ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1
แห่งประมวลรัษฎากร นั้น จะต้องมีหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
97/2543 เรื่อง การส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2543 (หรือตามข้อ 5
ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.33/2536ฯ เดิม ซึ่งถูกยกเลิกโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.97/2543ฯ)
ดังนี้
1. หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซื้อน้ำมันและผลิตภัณฑ์
น้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จากผู้ประกอบการจดทะเบียน
2. หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนซื้อน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันตาม กฎหมาย
ว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า
3. หลักฐานของกรมศุลกากรที่แสดงว่าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าได้จัดทำใบอนุญาตนำน้ำมันและ
ผลิตภัณฑ์น้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ขึ้นอากาศยานหรือลงเรือเดินทะเล หรือ
หลักฐานที่แสดงว่ากรมศุลกากรอนุญาตให้นำน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันดังกล่าวขึ้นอากาศยานหรือลง
เรือเดินทะเล
4. หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ในนาม
ของผู้ประกอบการจดทะเบียนฯกรณีบริษัท A. จำกัด ขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ประกอบการให้บริการ
ขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ถ้าบริษัทฯ มีหลักฐานที่แสดงว่าได้จัดทำใบอนุญาตนำน้ำมันขึ้น
อากาศยานจริง เพียงแต่ขาดการรับรองของกรมศุลกากร และมีหลักฐานอื่นตามที่กฎหมายกำหนดครบถ้วน
แล้ว บริษัทฯ ก็จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29802

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020