เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.ก.660
วันที่: 19 กันยายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในการนำเข้าเครื่องจักร สำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(11), มาตรา 78/2(1), มาตรา 81(2)(ค)
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตน้ำมันดิบจากธัญญพืชเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ได้จดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มีสิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมที่จะได้รับยกเว้น
อากรขาเข้า สำหรับเครื่องจักรที่นำเข้ามาภายในวันที่ 8 ตุลาคม 2541 ซึ่งบริษัทฯ ได้นำเข้าเครื่องบด
เมล็ดพืชเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2540 เป็นเงิน 1,474,314.68 บาท และได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น
เงิน 103,202 บาท
3. บริษัทฯ ชี้แจงว่า บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทำให้ได้รับยกเว้นค่าอากรขาเข้า
และได้รับการถอนประกันภาษีมูลค่าเพิ่มในการนำเข้าเครื่องจักรดังกล่าว บริษัทฯ จึงไม่ต้องชำระค่า
อากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมศุลกากรเมื่อสินค้าผ่านพิธีการนำเข้า แต่ด้วยความจำเป็นเร่งด่วน
ในการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อนำไปติดตั้ง บริษัทฯ ไม่ได้ทำหนังสือขออนุมัติสำนักงานคณะกรรมการ
ส่งเสริมการลงทุนก่อนนำเข้าสินค้า จึงได้ชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มไปก่อน จากนั้นจึง
ดำเนินการขอคืนอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มภายหลัง โดยทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการ
ส่งเสริมการลงทุนเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการ
ส่งเสริมการลงทุนได้มีหนังสือถึงกรมศุลกากรเพื่อแจ้งให้ดำเนินการคืนอากรขาเข้าให้แก่บริษัทฯ แต่ใน
ส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้อง ค.10 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีสิงหาคม 2540
เป็นเงิน 103,202 บาท มูลเหตุที่ขอคืนเนื่องจากชำระภาษีไว้โดยไม่มีหน้าที่เสีย
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ นำเข้าเครื่องบดเมล็ดพืชจากต่างประเทศ บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าตามมาตรา
77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้นำเข้าจึงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 78/2(1) และมาตรา
82/14 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ถูกต้องแล้ว บริษัทฯ ไม่สามารถ
ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้แม้ว่าบริษัทฯ จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและสามารถขอคืน ตามสิทธิและ
ประโยชน์ที่ได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520
ก็ตาม กฎหมายดังกล่าวมิได้ให้สิทธิและประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่จะได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด เว้นแต่การนำเข้าเครื่องจักรดังกล่าวเป็นการนำเข้าสินค้าที่จำแนก
ประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ที่จะได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29824

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020