เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.1102
วันที่: 29 กันยายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีค่าบริการซ่อมและค่าวัสดุ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40
ข้อหารือ: บริษัทฯ ดำเนินกิจการให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักร
และหุ่นยนต์ช่วยในกระบวนการผลิต การบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคการค้าส่งภายใน การค้าส่งและ
หรือกิจการค้าปลีกเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือและอุปกรณ์ การให้บริการฝึกอบรมการใช้เครื่องจักร
การติดตั้งบำรุงและซ่อมแซมเครื่องจักรและการปรับแต่ง CALIBRATION เครื่องจักร เครื่องกล
เครื่องมือและอุปกรณ์ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า บริษัทฯ ได้ให้บริการซ่อม โดยเอาสินค้าในสต็อค
เปลี่ยนให้ลูกค้าแล้วส่งสินค้าตัวที่ซ่อมไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น และเมื่อซ่อมเสร็จก็จะส่งกลับมาเก็บใน
สต็อคหรือหากซ่อมไม่ได้ก็จะเอาสินค้าตัวใหม่มาเก็บแทนที่ในสต็อค บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีหรือ
ใบแจ้งหนี้รับจ้างซ่อม โดยแยกรายการค่าวัสดุกับค่าซ่อมเป็นคนละฉบับ กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ควรจะถูกหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเฉพาะค่าซ่อม ถูกต้องหรือไม่ ขณะนี้บริษัทฯ มีข้อโต้แย้งกับลูกค้าซึ่งยืนยันจะหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากค่าซ่อมรวมค่าวัสดุ จึงหารือเพื่อความถูกต้องในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
แนววินิจฉัย: กรณีการให้บริการซ่อมตามข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะออกใบกำกับภาษีหรือใบแจ้งหนี้ระบุค่าซ่อมกับ
ค่าวัสดุฉบับเดียวกันหรือคนละฉบับ การให้บริการดังกล่าวถือเป็นการให้บริการรับจ้างซ่อมทั้งหมด หาก
ผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ใน
อัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ที่จ่าย ตามข้อ 8 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้
ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่
26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 63/29857

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020