เลขที่หนังสือ | : กค 0811(กม.04)/1486 |
วันที่ | : 25 กันยายน 2543 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ของอาจารย์ชาวต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 41 |
ข้อหารือ | : โรงเรียน AA เป็นโรงเรียนนานาชาติเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษา ตอนปลาย ได้เชิญอาจารย์จากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์เหนือ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ แคนาดา ฝรั่งเศส แองโกล-อินเดีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งอาจารย์ทั้ง 9 ประเทศ ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอนุสัญญาภาษีซ้อน โรงเรียนฯ จึงขอให้ออกหนังสือนำในเรื่องการยกเว้น ภาษี และขอหารือดังนี้ 1. การขอคืนภาษีของอาจารย์ที่เดินทางเข้ามาเพื่อทำการสอนในประเทศไทย (ทาง โรงเรียนได้เคยหักภาษีเงินได้และนำส่งไว้แล้ว) ต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง 2. การยกเว้นภาษีของอาจารย์ใหม่ที่เดินทางเข้ามาทำการสอนในประเทศไทยต้องปฏิบัติ อย่างไรบ้าง |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีอาจารย์เป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีข้อตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย (1) ในอนุสัญญาของประเทศดังกล่าวได้กำหนดเรื่องครู อาจารย์หรือศาสตราจารย์ไว้ โดยบุคคลดังกล่าวได้เข้ามาทำการสอนในประเทศไทยชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลาไม่เกินตามที่กำหนด ไว้ในอนุสัญญาของแต่ละประเทศนั้น ๆ เงินค่าตอบแทนในการสอนดังกล่าว ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ประกอบด้วยอนุสัญญาภาษีซ้อนของแต่ละประเทศ ดังต่อไปนี้ (ก) อาจารย์ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย ที่เข้ามาทำการสอนในประเทศไทย หากระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามข้อ 20 แห่งความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่าง ประเทศไทยกับประเทศออสเตรเลีย (ข) อาจารย์ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาทำการสอนใน ประเทศไทย หากระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามข้อ 23 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา (ค) อาจารย์ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐอินเดีย ที่เข้ามาทำการสอนใน ประเทศไทย หากระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามข้อ 21 แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ สาธารณรัฐอินเดีย (ง) อาจารย์ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ ที่ เข้ามาทำการสอนในประเทศไทย หากระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีนับจากวันที่ได้เดินทางเข้ามาใน ประเทศไทยเป็นครั้งแรกเพื่อทำการสอน ตามข้อ 21 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่าง ประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ (จ) อาจารย์ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ที่เข้ามาทำการสอนในประเทศไทย หากระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามข้อ 21 แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสเพื่อการ เว้นการเก็บภาษีซ้อน ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (2) ในอนุสัญญาของประเทศดังกล่าวมิได้กำหนดเรื่องครู อาจารย์หรือ ศาสตรจารย์ไว้ โดยบุคคลดังกล่าวได้เข้ามาทำการสอนในประเทศไทยชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลาไม่เกินตามที่กำหนด ไว้ในอนุสัญญาของแต่ละประเทศนั้น ๆ เงินค่าตอบแทนในการสอนดังกล่าว ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ประกอบกับข้อที่ว่าด้วยบริการส่วนบุคคลที่ไม่อิสระ ของอนุสัญญาภาษีซ้อนของแต่ละประเทศ ดัง ต่อไปนี้ (ก) อาจารย์ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศแคนาดา ที่เข้ามาทำการสอนในประเทศไทย หากระยะเวลาไม่เกิน 183 วัน ในปีปฏิทินที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการสอน ตาม 2 ของข้อ 15 แห่งอนุสัญญา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศแคนาดา (ข) อาจารย์ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ ที่เข้ามาทำการสอนในประเทศไทย หากระยะเวลาไม่เกิน 183 วัน ในรอบระยะเวลาสิบสองเดือนใด ๆ ที่เริ่มต้นหรือสิ้นสุดในปีภาษีที่ เกี่ยวข้อง เพื่อทำการสอน ตาม 2 ของข้อ 15 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับรัฐบาล แห่งประเทศแอฟริกาใต้เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับ ภาษีเก็บจากเงินได้ (ค) อาจารย์ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ ที่เข้ามาทำการสอนในประเทศไทย หากระยะเวลาไม่เกิน 183 วัน ภายในระยะเวลา 12 เดือนใด ๆ ที่เริ่มต้นหรือสิ้นสุดในปีที่ได้รับ เงินได้นั้น เพื่อทำการสอน ตาม 2 ของข้อ 16 แห่งความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่าง ประเทศไทยกับประเทศนิวซีแลนด์ แต่อย่างไรก็ตาม หากอาจารย์ ตาม (1) และ (2) ดังกล่าวเข้ามาทำการสอนใน ประเทศไทยเป็นประจำ อาจารย์ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับทั้งหมดมาเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย และกรณีอาจารย์ที่เข้ามาทำการสอนในประเทศไทยชั่วคราวแต่ เกินกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในอนุสัญญานั้น ๆ อาจารย์ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับทั้งหมด มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีอาจารย์เป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มิได้มีข้อตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนกับ ประเทศไทย เงินได้จากการเข้ามาสอนหนังสือดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานหรือ กิจการที่ทำในประเทศไทย อาจารย์ชาวต่างประเทศดังกล่าวมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 63/29867 |