เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.1171
วันที่: 2 ตุลาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีสาขาในต่างประเทศจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานประจำสาขาในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41 วรรคสอง
ข้อหารือ: บริษัทฯ ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและประกอบกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แจ้งว่า
บริษัทฯ ได้เปิดสาขาในประเทศสหภาพพม่าเพื่อประกอบกิจการขนส่งสินค้าดังกล่าว โดยสำนักงานใหญ่ใน
ประเทศไทยได้โอนเงินไปยังสาขาในประเทศสหภาพพม่าเพื่อใช้ในการดำเนินงานจำนวนหนึ่ง หลังจาก
นั้น สาขาในประเทศสหภาพพม่าได้ดำเนินการว่าจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มิได้อยู่ในประเทศไทย
เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาในประเทศสหภาพพม่า โดยเงินเดือนทั้งหมดของพนักงานดังกล่าวจะลง
เป็นรายจ่ายของสำนักงานสาขาในประเทศสหภาพพม่า และไม่มีการนำมาลงเป็นรายจ่ายในส่วนของ
สำนักงานใหญ่ซ้ำอีกแต่อย่างใด แต่ในการจ่ายเงินเดือนนั้น บริษัทฯ ได้แบ่งจ่ายเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ
ร้อยละ 50 ของเงินเดือน สาขาในประเทศสหภาพพม่าเป็นผู้จ่าย ซึ่งสาขาฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ไว้แล้วตามกฎหมายของประเทศสหภาพพม่า และอีกร้อยละ 50 ของเงินเดือน สาขาในประเทศพม่าได้
ขอให้สำนักงานใหญ่ในประเทศไทยเป็นผู้ทดรองจ่าย โดยการนำเข้าบัญชีเงินฝากของลูกจ้างในประเทศ
สิงคโปร์
บริษัทฯ ได้หารือว่ากรณีที่บริษัทฯ จ่ายเงินเดือนของลูกจ้างซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาในประเทศ
สหภาพพม่าทั้งในส่วนที่สาขาจ่ายร้อยละ 50 และในส่วนที่สำนักงานใหญ่จ่ายอีกร้อยละ 50 ตาม
ข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ จะมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1)
แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย: เนื่องจากเงินได้ทั้ง 2 ส่วนที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาในประเทศสหภาพพม่าได้รับตาม
ข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นเงินได้จากกิจการนอกประเทศของนายจ้างในประเทศไทย เงินได้ดังกล่าวจึง
เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานในต่างประเทศ และโดยที่ลูกจ้างดังกล่าวมิใช่
ผู้อยู่ในประเทศไทย ดังนั้น ลูกจ้างดังกล่าวจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย
จากค่าจ้างที่ได้รับทั้ง 2 ส่วน ทั้งนี้ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ฉะนั้น เมื่อบริษัทฯ
จ่ายค่าจ้างทั้ง 2 ส่วนให้กับลูกจ้าง บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายแต่
อย่างใด
เลขตู้: 63/29864

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020