เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.ก.1181
วันที่: 3 ตุลาคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการห้องรับรองพิเศษ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 66 วรรคสอง, มาตรา 82/6, มาตรา 82/3
ข้อหารือ: ตามหนังสือที่อ้างถึง แจ้งว่า บริษัทฯ ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแห่ง มลรัฐเดลาแวร์
ประเทศสหรัฐอเมริกา และประกอบกิจการรับขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ โดย
มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย ได้หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทฯ ให้บริการห้องรับรองพิเศษ
ซึ่งมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
1. บริษัทฯ ได้เช่าสถานที่ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพจากการท่าอากาศยาน
แห่งประเทศไทย เพื่อจัดเป็นห้องรับรองพิเศษสำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ โดยไม่คิดค่าบริการ
เพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าโดยสารตามปกติ แต่เนื่องจากห้องรับรองพิเศษดังกล่าว สามารถรับผู้โดยสาร
ได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงตกลงให้บริการแก่ ผู้โดยสารของ
บริษัทสายการบินอื่นด้วย โดยจะคิดค่าบริการจากบริษัทสายการบินอื่นในอัตราที่ ตกลงกัน
2. เนื่องจากเดิมก่อนที่อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีผลใช้บังคับ
บริษัทฯ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการขนส่งระหว่างประเทศจากยอดรายรับตามมาตรา 67 แห่ง
ประมวลรัษฎากรและก่อนวันที่ 1 มกราคม 2542 กิจการขนส่งระหว่างประเทศได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ บริษัทฯ ได้ทำหนังสือหารือเกี่ยวกับภาระ
ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการให้บริการห้องรับรองพิเศษ ซึ่งต่อมากรมสรรพากรได้มี
หนังสือที่ กค 0802/พ.8158 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2539 แจ้งให้บริษัทฯ ทราบว่า
(ก) ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำรายได้จากการ
ให้บริการดังกล่าว มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ของ
กำไรสุทธิตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และโดยที่บริษัทฯ มีปัญหาในการเฉลี่ย
รายจ่ายระหว่างกิจการให้บริการห้องรับรองพิเศษและกิจการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากยอดรายรับ กรมสรรพากรจึงอนุมัติให้บริษัทฯ หักรายจ่ายเหมาสำหรับกิจการ
ให้บริการห้องรับรองพิเศษได้ตามข้อ 5(1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.13/2529 ฯ ลงวันที่ 7
เมษายน 2529
(ข) ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการ
ให้บริการห้องรับรองพิเศษ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร และหากบริษัทฯ มีรายได้ของ
กิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าร้อยละ 10 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด บริษัทฯ มีสิทธิเลือกไม่
นำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขาย แต่ให้นำไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าต้นทุนทรัพย์สินหรือรายจ่าย
ของกิจการได้ ตามข้อ 3(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 29)ฯ
ลงวันที่ 9 มีนาคม 2535 และเนื่องจากบริษัทฯ ได้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในการคำนวณกำไรสุทธิ
ตาม (ก) แล้ว บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิอีก
3. เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นมา บริษัทฯ ได้รับยกเว้น
ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้จากกิจการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง แห่ง
อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และตั้งแต่วันที่ 1
มกราคม 2542 เป็นต้นมา กิจการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ได้รับสิทธิในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงได้หารือว่า
ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น บริษัทฯ ยังคงมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเหมาตามข้อ 5(1) ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.13/2529 ฯ ต่อไป และในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะมีสิทธิในการนำ
ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการให้บริการห้องรับรองพิเศษมาหักออกจากภาษีขายได้หรือไม่ นั้น
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เนื่องจากเงินได้จากการให้บริการห้องรับรองพิเศษตามข้อเท็จจริงข้างต้นไม่เข้า
ลักษณะเป็นเงินได้จากกิจการที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการขนส่ง ดังนั้น เงินได้ดังกล่าว จึงไม่ใช่
ส่วนหนึ่งของเงินได้จากการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หากแต่ถือเป็นกำไรจากธุรกิจฉะนั้น เมื่อ
สาขาในประเทศไทยของบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการกับลูกค้า จึงถือเป็นการที่บริษัทฯ ให้บริการผ่าน
สถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 วรรคสอง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับ
ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และสาขาในประเทศไทย จึงต้องนำเงินได้ดังกล่าว
มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่ง
ประมวลรัษฎากร และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว
สำหรับกรณีที่บริษัทฯ มีปัญหาในการเฉลี่ยรายจ่ายระหว่างกิจการขนส่งและกิจการ
ให้บริการห้องรับรองพิเศษนั้น เนื่องจากกรมสรรพากรได้อนุมัติให้บริษัทฯ หักรายจ่ายเหมาตามข้อ 5(1)
ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.13/2529 ฯ แล้ว ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ต่อไป
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2542 เป็นต้นมา กิจการขนส่งระหว่าง
ประเทศโดยอากาศยานที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น จึงไม่ถือว่าบริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งที่อยู่ในบังคับต้อง
เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกต่อไป ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตาม
มาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่
29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2535 และบริษัทฯ จึงมีสิทธินำภาษีที่เกี่ยวกับกิจการทั้งหมดไปหักจาก
ภาษีขายได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29869

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020