เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.ก.1548 |
วันที่ | : 13 ตุลาคม 2543 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเข้าสินค้าในนามของผู้ประกอบการอื่น |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 86, มาตรา 86/4, มาตรา 86/5 |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. (ไทยแลนด์) จำกัด ประกอบกิจการรับจ้างติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมอาคารอัตโนมัติ ขอ หารือภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนำเข้าสินค้าในนามของผู้ประกอบการอื่น โดยมีข้อเท็จจริงและบริษัทที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ บริษัท ก. = บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย และได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ผู้ว่าจ้าง บริษัท ข. = บริษัท ก. (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้รับจ้างติดตั้ง บริษัท ค. = บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยเป็นผู้รับเหมาช่วง บริษัท ง. = บริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย แต่เป็น บริษัทในเครือของบริษัท ค. 1. กรณีบริษัท ข. ได้สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาติดตั้งให้บริษัท ก. โดย ใบขนสินค้านำเข้า จะใช้ชื่อของบริษัท ก. เป็นผู้นำเข้า เนื่องจากบริษัท ก. ได้รับการ ส่งเสริมการลงทุน (BOI) บริษัท ข. จะเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าตามที่ได้ตกลงกันไว้ พร้อมกับบันทึก บัญชีสำหรับสินค้าที่สั่งให้บริษัท ก. เป็นบัญชีงานระหว่างทำ ทุกสิ้นเดือนจะมีการคำนวณอัตราผลสำเร็จ ของงานเพื่อโอนบัญชีงานระหว่างทำเป็นต้นทุนของงานถูกต้องหรือไม่ 2. กรณีบริษัท ค. เป็นผู้รับเหมาช่วงต่อจากบริษัท ข. ซึ่งการรับเหมาช่วงนี้จะมีส่วนที่เหมา ค่าแรงและส่วนที่สั่งซื้อสินค้าเพื่อใช้ในการติดตั้งให้บริษัท ก. ทั้งที่สั่งซื้อจากต่างประเทศและในประเทศ บริษัท ค. จะออกใบเสร็จรับเงินให้แก่บริษัท ข. โดยเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ในบางกรณีจะ เรียกเก็บล่วงหน้าสำหรับสินค้าที่บริษัท ข. ต้องสั่งซื้อจากบริษัทในเครือที่อยู่ต่างประเทศ (บริษัท ง.) และมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย การนำเข้าสินค้าชื่อผู้รับสินค้าและใบขนในการทำพิธีการขาเข้าจึง เป็นชื่อของบริษัท ก. จึงขอทราบว่า 2.1 สินค้าที่นำเข้ามาตามใบขน บริษัท ก. หรือบริษัท ค. ที่มีหน้าที่ต้องจัดทำ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ 2.2 บริษัท ค. จะเรียกเก็บค่าสินค้าจากบริษัท ข. ได้อย่างไร หรือบริษัท ค.ต้องออก ใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษีเรียกเก็บเงินจากบริษัท ก. ในขณะที่ผู้นำเข้าตามใบขนขาเข้าเป็นชื่อบริษัท ก. แต่ตามสัญญารับจ้างบริษัท ค. ต้องเรียกเก็บจากบริษัท ข. 2.3 เงินที่เรียกเก็บค่ามัดจำล่วงหน้าของสินค้าที่บริษัท ค. เรียกเก็บจากบริษัท ข. และ ได้ออกใบกำกับภาษีให้บริษัท ข. แล้ว สำหรับสินค้าที่นำเข้าในนามของบริษัท ก. จะแก้ไขอย่างไร และ จำเป็นต้องมีเอกสารทางบัญชีอะไรบ้างเพื่อแก้ไขการออกใบกำกับภาษีสำหรับเงินมัดจำนี้ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตาม 1. การบันทึกบัญชี สำหรับสินค้าที่นำเข้าดังกล่าว ให้บริษัท ข. ปฏิบัติตาม หลักการบัญชีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป 2. กรณีตาม 2. 2.1 บริษัท ก. ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าดังกล่าว ไม่ต้องนำสินค้าที่นำเข้ามาตาม ใบขนมาลงในรายงานสินค้าและวัตถุดิบแต่อย่างใดเนื่องจากมิใช่เป็นสินค้าที่บริษัท ก. มีไว้เพื่อ ประกอบกิจการขายสินค้า บริษัท ค. (ผู้รับเหมาช่วงจากบริษัท ข.) ไม่ต้องจัดทำรายงานสินค้าและ วัตถุดิบแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการประกอบกิจการให้บริการ 2.2 บริษัท ค. ให้บริการแก่บริษัท ข. ดังนั้น บริษัท ค. จึงมีหน้าที่ต้องจัดทำ ใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท ข. ผู้รับบริการทันทีที่ความรับผิดในการเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร 2.3 ใบกำกับภาษีที่บริษัท ค. ได้ออกเรียกเก็บกับบริษัท ข. นั้น หากใบกำกับภาษี ดังกล่าวมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วน เมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิก ใบกำกับภาษีฉบับเดิม และจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง บริษัท ค. สามารถดำเนินการออกใหม่ได้ ตามข้อ 25 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 |
เลขตู้ | : 63/29909 |