เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.06)/1735
วันที่: 13 พฤศจิกายน 2536
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีค่าตอบแทนที่จ่ายในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41, มาตรา 50(1), มาตรา 9
ข้อหารือ: บริษัท A. ประเทศเยอรมันนี เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท B. จำกัด ได้ส่งพนักงานชาว
ต่างประเทศเข้ามาทำงานให้กับบริษัท B. จำกัด ในประเทศไทย ซึ่งบริษัท B. ทำสัญญาว่าจ้างพนักงาน
เหล่านี้เป็นลูกจ้างของบริษัทฯ และจ่ายเงินเดือนให้ทุกเดือน นอกจากนี้ บริษัท A. ประเทศเยอรมันนี
จะจ่ายค่าตอบแทนในการเข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกเดือนเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยโอน
เข้าบัญชีธนาคารของพนักงานในประเทศเยอรมันนี แล้วส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินจากบริษัท B. ใน
ภายหลัง บริษัท B. หารือว่า
(1) บริษัท B. จะต้องนำเงินได้ของพนักงานที่ได้รับในต่างประเทศมารวมคำนวณเป็นเงินได้
ของพนักงานหรือไม่ และต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่
(2) การยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.91 ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนใดในการคำนวณ
เงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย
แนววินิจฉัย: (1) พนักงานชาวต่างประเทศมีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย จึง
มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ ทั้งนี้
ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อบริษัทฯ เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินจึงมีหน้าที่
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) วันที่บริษัท A. โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของพนักงานในประเทศเยอรมันนี ถือว่าบริษัท
B. จ่ายเงินได้ให้แก่พนักงานในวันนั้น ดังนั้น เมื่อบริษัท B. จ่ายเงินได้พึงประเมินเป็นเงินตรา
ต่างประเทศ ในการคำนวณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายเป็นเงินตราไทยเพื่อประโยชน์ในการคำนวณ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งบริษัทฯ ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 และผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปยื่น
แบบ ภ.ง.ด.91 จะต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 9 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
เป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2541
เลขตู้: 63/29965

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020