เลขที่หนังสือ | : กค 0811(กม.03)/พ.1776 |
วันที่ | : 22 พฤศจิกายน 2543 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณียกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญารับเหมาตกแต่งภายใน |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(8), มาตรา 77/2 |
ข้อหารือ | : 1. บริษัทฯ ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดสำนักงานกับบริษัท ภ. จำกัด ตามสัญญา ลงวันที่ 21 มีนาคม 2534 มูลค่า 63,139,500 บาท และได้ทำสัญญาจ้างเหมาให้บริษัทผู้ขาย ตกแต่งห้องชุด ดังกล่าวในราคา 20,826,500 บาท ตามสัญญา ลงวันที่ 22 มีนาคม 2534 บริษัทฯ ได้ชำระเงินมัดจำ และค่าตกแต่งภายในตามสัญญาทั้ง 2 ฉบับ รวม 28 งวด เป็นเงิน 41,762,284.02 บาท ตาม รายละเอียดดังนี้ รายการ ห้องชุดสำนักงาน ค่าตกแต่งภายใน รวม ราคาตามสัญญา 63,139,500.00 20,826,500.00 83,966,000.00 ค่ามัดจำ 3,156,975.00 1,041,325.00 4,198,300.00 ค่างวดจำนวน 28 งวด 28,412,774.88 9,151,209.14 37,563,984.02 รวมชำระ 31,569,749.88 10,192,534.14 41,762,284.02 2. ในวันที่ 3 มีนาคม 2537 บริษัทฯ และบริษัท ภ. จำกัด ได้ตกลงยกเลิก สัญญาจะซื้อจะขายและสัญญารับเหมาตกแต่งภายใน โดยบริษัทผู้ขายยินยอมคืนเงินที่บริษัทฯ ได้ชำระไว้ จำนวน 41,762,28.02 บาท แต่หักเงินค่าใช้จ่ายดำเนินการที่บริษัทผู้ขายได้จ่ายไประหว่างดำเนินการ ตามสัญญาทั้งสองฉบับไว้บางส่วน คงจ่ายคืนให้เป็นเงิน 36,784,181.00 บาท แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ดังนี้ งวดแรก จ่ายวันที่ 25 มีนาคม 2537 จำนวน 20,000,000.00 บาท งวดที่สอง จ่ายวันที่ 5 เมษายน 2537 จำนวน 16,784,181.00 บาท โดยมิได้แบ่งแยกจำนวนเงินคืนตามแต่ละสัญญาและบริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีรับรู้รายได้ทั้งหมดในเดือนมีนาคม 2537 3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ กรมสรรพากรมีความเห็นดังนี้ (1) เงินค่ามัดจำและค่างวดของราคาห้องชุดสำนักงานที่ได้รับคืน มิใช่ค่าตอบแทนจาก การขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ไม่ถือเป็นรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด (2) สำหรับมูลค่าทรัพย์สินที่บริษัทฯ ว่าจ้างตกแต่งย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯและโดยที่ ทรัพย์สินที่เกิดจากการตกแต่ง ไม่เป็นส่วนควบของห้องชุดสำนักงานการโอนทรัพย์สินส่วนที่ได้มีการตกแต่ง บางส่วนไปแล้ว ให้แก่บริษัทผู้รับจ้างจึงถือเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับมูลค่า ของค่าตกแต่งภายในที่บริษัทฯ ได้รับคืนมาดังกล่าว |
แนววินิจฉัย | : 1. การโอนสิทธิเรียกร้องที่จะถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง และถือเป็นการขาย สินค้าต้อง เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ซึ่งกรณีนี้คือผู้ว่าจ้าง และต้องเป็นการโอนให้แก่ ผู้รับโอนซึ่งเป็น บุคคลที่ 3 แต่กรณีตามข้อเท็จจริงเป็น กรณีการตกลงยกเลิกสัญญา ซึ่งมีผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ ฐานะเดิม ตามมาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่ถือว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง ทั้งนี้ ตามมาตรา 305 และมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เงินที่บริษัทฯ ผู้ว่าจ้างได้รับคืนอันเนื่องมาจากการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด จึงมิใช่ค่าตอบแทนจากการขาย สินค้า ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีสัญญารับเหมาตกแต่งภายใน ลงวันที่ 22 มีนาคม 2534 เป็นสัญญาที่ผู้รับจ้างตกลงทำ การตกแต่งภายในตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง โดยผู้ว่าจ้างตกลงวางเงินมัดจำจำนวน 1,041,325 บาท ในวันทำสัญญาและจะชำระค่ารับเหมาตกแต่งอีกเป็นงวดรวม 28 งวด งวดละ 334,711.60 บาท และผู้ว่าจ้างจะชำระค่ารับเหมาตกแต่งส่วนที่เหลืออีกจำนวน 11,454,575.20 บาท ในวันส่งมอบงาน จึงเป็นสัญญารับจ้างทำของที่ผู้รับจ้างตกลงรับทำงานจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างตกลงจะให้ สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 587 และกรณีตาม ข้อเท็จจริงเมื่อคู่สัญญาตกลงยกเลิกสัญญาโดยผู้ว่าจ้างยังมิได้ทำงานจนสำเร็จและยังมิได้ ส่งมอบงานที่ ทำให้แก่ผู้ว่าจ้าง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ตกแต่งอาคารชุด จึงยังเป็นของผู้รับจ้างและยังไม่โอนเป็น ของผู้ว่าจ้าง ดังนั้น เงินที่ผู้ว่าจ้างได้รับคืนอันเนื่องมาจากการยกเลิกสัญญาว่าจ้างตกแต่งภายในดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าตอบแทนจากการโอนทรัพย์สินส่วนที่ได้มีการตกแต่งบางส่วนไปแล้ว และถือไม่ได้ว่า เป็นค่าตอบแทนจากการขายสังหาริมทรัพย์ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 63/29973 |