เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.7139
วันที่: 28 พฤศจิกายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการชำระค่าบริการตามโครงการเงินกู้จากต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 80/1(4)
ข้อหารือ: กรมทางหลวงได้ทำสัญญาจ้าง A. ทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 41 ภายใต้โครงการ
เงินกู้ OECF การจ่ายเงินค่างานแบ่งจ่ายเป็น 2 ส่วน ๆ หนึ่งจ่ายจากเงินกู้ OECF เป็นเงินเยน 53%
และส่วนที่เหลือ 47% จ่ายจากเงินงบประมาณ
ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายค่างานในส่วนของเงินงบประมาณ 47% โดยให้ใช้ เงินกู้
OECF แทนเงินงบประมาณทั้งหมด แต่ใช้เงินทดรองราชการจ่ายไปก่อนแล้วจึงนำหลักฐานการจ่ายไปขอ
เบิกเงินกู้ OECF มาใช้คืนเงินทดรองราชการในภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้ค่างานตาม
สัญญาจ่ายจากเงินกู้ทั้ง 100% และการจ่ายเงินค่างานได้รับสิทธิ์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
กรมทางหลวงได้เบิกจ่ายค่างานงวดที่ 1, 2, 3 ในส่วนของเงินทดรองราชการ 47% และ
ได้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้ผู้รับเหมาไปด้วย รวมเป็นเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 2,448,564.76
บาท ซึ่งผู้รับเหมาในฐานะผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แล้ว
เมื่อเดือนสิงหาคม 2542 และกรมทางหลวงได้นำเอกสารการจ่ายเงินทดรองราชการของค่างานงวด
1, 2, 3 ไปขอเบิกจากเงินกู้ OECF เพื่อนำมาใช้คืนเงินทดรองราชการตามวิธีการ แต่ปรากฏว่าแหล่ง
เงินกู้จ่ายชดใช้คืนเงินทดรองราชการเฉพาะค่างาน โดยไม่จ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเหตุให้เงินทดรอง
ราชการได้รับการใช้คืนขาดไปเท่ากับจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,448,564.76 บาท และเงินทดรอง
ราชการที่คงเหลือไม่พอจ่ายค่างานได้ครบตามสัญญา กรมทางหลวงมีความจำเป็นต้องหาเงินมาชดใช้
เงินทดรองราชการให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขการเบิกจ่าย จึงได้ดำเนินการขออนุมัติจากสำนักงบประมาณ
มาใช้เพื่อการนี้ ซึ่งสำนักงบประมาณเห็นว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงขอให้กรมทางหลวง
ติดต่อประสานงานขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจากกรมสรรพากรโดยตรง
กรมทางหลวงเห็นว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2,448,564.76 บาท เกิดจากการจ่ายค่างาน
ตามโครงการเงินกู้ OECF ซึ่งได้รับสิทธิ์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(4)
แห่งประมวลรัษฎากร และกรมทางหลวงจะขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2,448,564.76 บาท ได้
หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณี A. ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการกับ
กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่
กำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 28) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการกับกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น หรือ
รัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(4) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2535 กรณีตามข้อหารือ หากกรมทางหลวงจ่ายเงินตาม
โครงการเงินกู้ฯ และได้มีการออกหนังสือรับรองภายหลังการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ก็ถือได้ว่า
กรมทางหลวงได้ปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าว
ผู้ประกอบการจดทะเบียนก็จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(4) แห่ง
ประมวลรัษฎากรและประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าว
สำหรับกรณีที่กรมทางหลวงถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว
กรมทางหลวงสามารถเรียกคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการจดทะเบียน และผู้ประกอบการจดทะเบียน
มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร โดยยื่นคำร้องขอคืนตามแบบที่อธิบดีกำหนด (ค.10) ตาม
มาตรา 84/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิขอคืนต้องแนบหนังสือรับรอง
การชำระค่าสินค้าหรือบริการของส่วนราชการและสำเนาใบกำกับภาษีมาพร้อมกับการยื่นแบบ ค.10 ทั้งนี้
เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
ตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าว
เลขตู้: 63/29974

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020