เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/7172
วันที่: 29 พฤศจิกายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจัดการแข่งขันกอล์ฟ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 76 ทวิ, มาตรา 83/6, มาตรา 77/1(10), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้จัดให้มีการแข่งขันกอล์ฟซึ่งจะมีนักกอล์ฟชั้นแนวหน้าของโลกเข้ามาร่วมการแข่งขัน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้สนามกอล์ฟฯ เป็นที่รู้จักและดึงดูดให้มีผู้สนใจเข้ามาสมัครเป็น
สมาชิกของสนามในอนาคต เนื่องจากจะมีผู้เข้าชมการแข่งขันที่สนามทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็น
จำนวนมาก อีกทั้งจะมีการถ่ายทอดโทรทัศน์การแข่งขันไปยังผู้ชมทั่วโลก
ในการจัดการแข่งขัน บริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้ บริษัท M. ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย
ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขันให้ทั้งหมด โดยบริษัท M. มี หน้าที่จัดหาผู้
เข้าร่วมแข่งขันและผู้สนับสนุนการแข่งขันและจัดหาเงินรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขัน ทั้งหมด รวมทั้ง
การจำหน่ายตั๋วเข้าชมด้วย โดยบริษัทฯ มีหน้าที่ปรับปรุงและจัดเตรียมความพร้อมของสนาม ซึ่งบริษัทฯ
จะมีรายได้จากการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มและของที่ระลึกในระหว่างการแข่งขันเท่านั้น
บริษัทฯ หารือดังนี้
1. ในการชำระค่าจ้างตามสัญญาให้แก่บริษัท M. บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ในอัตราเท่าใด
2. การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่บริษัทฯ ต้องปิดสนามเพื่อทำการปรับปรุงและการแข่งขัน
โดยในช่วงเวลา ดังกล่าว จะไม่อนุญาตให้สมาชิกหรือผู้อื่นใดมาใช้สนามได้ ซึ่งบริษัทฯ จะไม่มีรายได้
จากการให้บริการสนามกอล์ฟในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าจัดการแข่งขันออกไปให้บริษัท บริษัท M. แยก
พิจารณาได้ดังนี้
1.1 บริษัท M. เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศจะได้ให้บริการจัดการ
แข่งขันกอล์ฟในประเทศไทย โดยผ่านลูกจ้างผู้ทำการแทนหรือผู้ติดต่อ บริษัท M. จึงมีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ให้
บริษัท M. บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ของเงินได้ตามข้อ 12 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง
ประมวลรัษฎากร มี หน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
1.2 อย่างไรก็ดี หากพิสูจน์ได้ว่าบริษัท M. ไม่มีสถานประกอบการถาวรใน
ประเทศไทย ตามอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา
บริษัท M. ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 5 และข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ
ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18)
พ.ศ. 2505 และเมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าจัดการแข่งขันออกไปให้ M. บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม แยกพิจารณาได้ดังนี้
2.1 การที่บริษัท M. เข้ามาดำเนินการจัดการแข่งขันตามข้อเท็จจริงดังกล่าว
ข้างต้นเข้าลักษณะเป็นการ “บริการ” ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ประกอบการ
ในราชอาณาจักร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร หาก
บริษัท M. ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงิน
ค่าบริการออกไปให้ M. บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 กรณีที่บริษัทฯ จัดปรับปรุงสนามโดยมิได้ให้บริการกับผู้ใดในช่วงระยะเวลา
ดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ ไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
2.3 กรณีที่อยู่ในช่วงเวลาของการแข่งขันซึ่งบริษัทฯ จะได้มีการให้บริการแก่
บุคคลอื่น เข้าลักษณะเป็นการ “บริการ” ตามมาตรา 77/1(10)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น
บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้
บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่นตามมาตรา 78/1(1)(ข) และมาตรา 78/1(2)(ข) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และมูลค่าของฐานภาษีได้แก่มูลค่าที่บริษัทฯ พึงได้รับจากการให้บริการตามมาตรา 79
แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29977

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020