เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.06)/พ.1647
วันที่: 2 พฤศจิกายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจัดทำใบกำกับภาษีมีรายการมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 79, มาตรา 86/4
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการค้าส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ให้แก่ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ มี
ข้อตกลงให้ส่วนลดเงินสดแก่ลูกค้าที่ชำระเงินก่อนครบกำหนด โดยบริษัทฯ จะออกใบลดหนี้สำหรับส่วนลด
เงินสดซึ่งไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าภายหลัง และเพื่อลดขั้นตอนในการทำงาน บริษัทฯ จะแสดง
ส่วนลดเงินสดในใบส่งของ/ใบกำกับภาษี ซึ่งไม่มีผลกระทบกับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด จึง
หารือว่าใบกำกับภาษีกรณีดังกล่าวถือเป็นใบกำกับภาษีต้องห้ามหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าโดยมีข้อตกลงจะให้ส่วนลดเงินสดแก่ลูกค้าในภายหลังสำหรับลูกค้าที่
ชำระเงินก่อนครบกำหนด ถือเป็นการให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนภายหลังการขายสินค้าแล้ว เงินส่วนลด
ดังกล่าวไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้า ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีขายจากผู้ซื้อแต่ประการใด และการให้ส่วนลดเงินสดในภายหลัง
ดังกล่าว มิใช่เหตุการณ์ที่ต้องออกใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดเหตุอื่นตามมาตรา
82/10(1)(2)(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 และ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และ
มาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.
2542
2. กรณีบริษัทฯ จะลดขั้นตอนการทำงานโดยแสดงส่วนลดการค้าไว้ในใบกำกับภาษี ก่อนที่
ลูกค้าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของการได้รับส่วนลดหรือค่าลดหย่อนนั้น หากไม่กระทบต่อมูลค่าของฐานภาษี
และจำนวนภาษี ตามใบกำกับภาษีที่บริษัทฯ ได้ออกไปแล้วตามตัวอย่างใบกำกับภาษีของบริษัทฯ ที่มี
รายการครบถ้วนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร การระบุส่วนลดหรือ
ค่าลดหย่อนไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในใบกำกับภาษีตาม
มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิกระทำได้
เนื่องจากหนังสือหารือของบริษัทฯ ระบุว่า “บริษัทฯ ได้รับการร้องขอจากลูกค้ารายหนึ่งซึ่ง
ต้องการลดขั้นตอนในการทำงานโดยให้แสดงส่วนลดเงินสดในใบส่งของ/ใบกำกับภาษี ซึ่งไม่มีผลกระทบ
กับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด” และในเอกสารใบกำกับภาษีที่ส่งมาประกอบการพิจารณามีทั้ง
ส่วนลดการค้า จำนวน 400 บาท และส่วนลดเงินสด จำนวน 40 บาท ซึ่งบริษัทฯ คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในอัตราร้อยละ 7.0 จากราคาขาย 4,400 บาท หักด้วยส่วนลดการค้า 400 บาท เป็นเงิน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 280 บาท ยอดรวมทั้งสิ้น 4,280 บาท แต่เมื่อมีการให้ส่วนลดเงินสดอีก 40 บาท ลูกค้า
จึงจ่ายเงินสุทธิ 4,240 บาท ดังนั้น กรณี ใบกำกับภาษีที่บริษัทฯ ส่งไปประกอบการพิจารณา เมื่อบริษัทฯ
คำนวณมูลค่าของฐานภาษีจำนวน 4,400 บาท หักด้วยส่วนลดการค้า 400 บาท เป็นมูลค่าของฐานภาษี
จำนวน 4,000 บาท ซึ่งถูกต้องตามมาตรา 79 (1)แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว สำหรับกรณีบริษัทฯ แสดง
ส่วนลดเงินสดไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวอีกจำนวน 40 บาท และแสดงยอดเงินสุทธิจำนวน 4,240 บาท
เป็นข้อความที่มากกว่าที่กฎหมายกำหนด หากใบกำกับภาษีมีรายการอื่นครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่ง
ประมวลรัษฎากรแล้ว บริษัทฯ ไม่มีความผิดตามมาตรา 90 (12) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/30000

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020