เลขที่หนังสือ | : กค 0811(กม.03)/1675 |
วันที่ | : 3 พฤศจิกายน 2543 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 48(1)(2) |
ข้อหารือ | : กรณีผู้มีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารจากบัญชีเงินฝากบัญชีเดียวหรือหลายบัญชีใน ธนาคารเดียวกันหรือหลายธนาคาร ใช้สิทธิเลือกนำเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมารวมคำนวณ ภาษี ตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้จะต้องนำดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ที่ได้รับทั้งหมดในปีภาษีนั้นมารวมคำนวณ หรือนำดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเพียงบางส่วนมารวมคำนวณก็ได้ หลักกฎหมาย การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ตาม มาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่ผู้มีเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ตามมาตรา 50(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการ ผู้มีเงินได้จะเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยนำไปรวมกับเงินได้อื่น และคำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า หรือจะใช้สิทธิ เลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไป รวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นก็ได้ ตามมาตรา 48(3)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ พิจารณาเห็นว่า มีภาระภาษีที่ต้องเสียสำหรับปีภาษีนั้นน้อยกว่าจำนวนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย (อัตราร้อยละ 15.0) ผู้มีเงินได้ก็มีสิทธินำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นเพื่อขอรับเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้เกินนั้นคืนได้ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 19/2533 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเลือกเสียภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ฯลฯ ตามมาตรา 48(3) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2533 |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดา มีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อมีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวให้กับผู้รับ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ ทุกคราวในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ตามมาตรา 50(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นรายการ ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษี ดังนี้ 1.1 เลือกเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 15.0 ตามที่ถูกผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 1.2 เลือกเสียภาษีโดยนำเงินได้ดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการ ตามแบบ ภ.ง.ด.90 เพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ปกติ 2. ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากจะต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ผู้มีเงินได้มีสิทธิ์นำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ตอนสิ้นปี ตามมาตรา 48(3)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ก็ได้ส่วนจะได้รับคืนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าเมื่อนำเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตอน สิ้นปีจะต้องเสียเท่าใด หากภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายเกินกว่าภาษีที่ต้องเสียก็จะได้คืนภาษีจากส่วนที่เกินนั้น 3. จากหลักกฎหมายและแนวการวินิจฉัยที่กล่าวไว้ใน 1 และ 2 กรณีดังกล่าวให้ผู้มีเงินได้ มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 15.0 ตามที่ถูกผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือเลือกเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ปกติ และการให้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน อัตราร้อยละ 15.0 (ไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่น) ก็เพื่อเป็นการบรรเทาภาระ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ดังกล่าวที่จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ ดังกล่าวสูงกว่าจำนวนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ และในกรณีที่ ผู้มีเงินได้เห็นว่ามีภาระภาษีที่ต้องเสียสำหรับปีภาษีนั้นน้อยกว่าจำนวนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ผู้มีเงินได้ก็ มีสิทธินำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นเพื่อขอรับเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้เกินนั้นคืนได้ ย่อมหมายความว่า กรณีที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิเลือกนำเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมารวมคำนวณภาษี เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการ ผู้มีเงินได้จะต้องนำดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่ได้รับทั้งหมดในปีภาษีนั้นจาก บัญชีเงินฝากที่มีอยู่ในธนาคารทุกแห่งมารวมคำนวณภาษีตามเกณฑ์ปกติ ตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะผู้มีเงินได้จะต้องนำภาษีที่คำนวณได้ตามเกณฑ์ปกติเปรียบเทียบกับภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย เพื่อจะได้ทราบว่าภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายมากกว่าภาษีที่คำนวณตามเกณฑ์ปกติหรือไม่และถ้า มากกว่าจะได้เลือกคำนวณภาษีตามเกณฑ์ปกติ และขอรับเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้เกินคืนได้ |
เลขตู้ | : 64/30058 |