เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.06)/พ.1693
วันที่: 8 พฤศจิกายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/3, มาตรา 86
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้หารือแนวทางปฏิบัติในการทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เช่น วัสดุมุงหลังคาซึ่งปกติ
จะไม่มีการสั่งซื้อสินค้ามาเป็นสต็อคคงเหลือไว้ เมื่อมีการขายจึงจะมีการสั่งซื้อ ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ที่
ใช้อยู่ยังไม่สามารถออกใบกำกับภาษีและตัดยอดสินค้าได้ จึงจำเป็นต้องบันทึกสินค้าเข้าไปในระบบก่อน
โดยอ้างอิงใบสั่งซื้อสินค้าระหว่างรอใบกำกับภาษีซื้อ เพื่อให้ยอดคงเหลือในสต็อคไม่ติดลบ
แนววินิจฉัย: ผู้ประกอบการจดทะเบียนเฉพาะที่ประกอบกิจการขายสินค้า ซึ่งคำนวณเสียภาษี มูลค่าเพิ่มตาม
มาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบและให้ลง รายการตาม
ปริมาณสินค้าหรือวัตถุดิบที่รับมาหรือจ่ายไปจริง โดยจัดให้มีเอกสารประกอบการลง รายงานเป็นใบสำคัญ
รับหรือจ่ายสินค้า และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่รับมาหรือจ่ายไปซึ่งสินค้าหรือวัตถุดิบ
ทั้งนี้ ตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3 และข้อ 9 ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2542
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงบริษัทฯ ยังมิได้รับวัสดุมุงหลังคามา บริษัทฯ ยังไม่มีหน้าที่ลงรายการใน
รายงานสินค้าและวัตถุดิบแต่อย่างใด และบริษัทฯ มีหน้าที่ลงรายการในรายงานดังกล่าวภายในสามวัน
นับแต่วันที่รับมาหรือจ่ายไปซึ่งวัสดุมุงหลังคา โดยรายงานสินค้าและวัตถุดิบต้องมีรายการและข้อความ
อย่างน้อยตามแบบแนบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่
29 เมษายน พ.ศ. 2542 ซึ่งการลงรายงานในช่อง “เลขที่ใบสำคัญ” ให้กรอกเลขที่ของใบสำคัญรับ
หรือจ่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยใบสำคัญจะเป็นใบกำกับภาษีหรือไม่ใช่ใบกำกับภาษีก็ได้ และบริษัทฯ มี
หน้าที่ออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าดังกล่าวในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
ตามมาตรา 86 และมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/30067

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020