เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/7511
วันที่: 14 ธันวาคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อให้เช่าและการให้บริการพื้นที่จอดรถ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ต), มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.90/2542ฯ
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ ได้เช่าที่ดินโดยมีกำหนดอายุการเช่า 30 ปี และก่อสร้างอาคารบนที่ดินที่เช่า ให้
ชื่อว่าอาคารเกษตรพลาซ่า ซึ่งจำแนกธุรกิจภายในอาคารเป็น 3 ส่วน คือ อาคารชั้น 4 – ชั้น 6 โดย
แบ่งสัญญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
(1) สัญญาเช่าพื้นที่สำนักงานและสัญญาบริการ ซึ่งสัญญาบริการ ได้แก่ ระบบ
ปรับอากาศ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และพื้นที่จอดรถ สำหรับในส่วนสัญญาบริการ บริษัทฯ ได้เรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ
(2) อาคารศูนย์การค้าให้เช่าบนอาคารชั้นพื้นดิน – ชั้น 3 มีสัญญาเช่า 1 สัญญา
เป็นสัญญาให้เช่าเหมา 30 ปี ชั้นใต้ดิน 1 บางส่วน – ชั้น 3 เพื่อทำธุรกิจศูนย์การค้า โดยผู้เช่าจะ
ดำเนินการให้เช่าช่วงพื้นที่ และจัดหาบริการต่าง ๆ ให้แก่ผู้เช่าช่วงของตนเอง บริษัทฯ ไม่ได้ให้บริการ
แก่ผู้เช่าอาคารศูนย์การค้าแต่อย่างใด
(3) อาคารจอดรถ บนอาคารชั้นใต้ดิน 1 บางส่วน – อาคารชั้นใต้ดิน 3
สามารถจอดรถยนต์ได้รวม 411 คัน และรถจักรยานยนต์ได้รวม 50 คัน เปิดให้บริการแก่ประชาชน
ทั่วไป โดยผู้ใช้รถจะสามารถนำรถเข้ามาจอดได้ตั้งแต่เวลา 6.00 น. ถึงเวลา 02.00 น. ทุกวัน
บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าบริการจอดรถจากรถทุกคันที่เข้ามาจอดในอาคารจอดรถตามอัตราที่บริษัทฯ
กำหนด ได้แก่ ชั่วโมงละ 30 บาท หรือจอดรถไม่เกิน 4 ชั่วโมง เสียค่าจอด 10 บาท แต่สำหรับผู้เช่า
อาคารสำนักงานบนอาคารชั้น 4 – ชั้น 6 ซึ่งได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่สำนักงานและสัญญาบริการ บริษัทฯ
เรียกเก็บค่าบริการจอดรถเป็นรายเดือนในอัตราคันละ 1,500 บาท ต่อคันต่อเดือน โดยจะมอบ
สติ๊กเกอร์ให้แก่ผู้เช่าตามจำนวนรถที่กำหนดไว้ในสัญญาบริการ และบริษัทฯ กำหนดสถานที่จอดรถไว้ให้
เป็นการเฉพาะ
2. บริษัทฯ มีความเห็นว่า การให้บริการพื้นที่จอดรถไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการเช่า
อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อยู่ใน
บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
มีสิทธิเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารสำนักงานและการให้บริการพื้นที่จอดรถ ตามมาตรา 82/6
แห่งประมวลรัษฎากร จึงหารือว่า ความเห็นของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ก่อสร้างอาคารเพื่อให้เช่า ซึ่งมีทั้งการเช่าเพื่อประกอบธุรกิจศูนย์การค้าและ
เช่าเป็นอาคารสำนักงาน โดยการเช่าเป็นอาคารสำนักงานนั้น บริษัทฯ ได้ทำสัญญาให้เช่าพื้นที่สำนักงาน
และสัญญาให้บริการสาธารณูปโภคซึ่งรวมถึงพื้นที่จอดรถด้วย ในส่วนของการให้บริการพื้นที่จอดรถ บริษัทฯ
เรียกเก็บค่าบริการแตกต่างกัน กล่าวคือ หากเป็นผู้เช่าอาคารสำนักงานซึ่งทำสัญญาเช่าพื้นที่สำนักงาน
และสัญญาบริการ บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าบริการจอดรถเป็นรายเดือนโดยจะมอบสติกเกอร์ให้แก่ผู้เช่า
ตามจำนวนรถที่กำหนดไว้ในสัญญาบริการและกำหนดสถานที่จอดรถไว้ให้เป็นการเฉพาะ แต่หากเป็นลูกค้า
ทั่วไปจะเรียกเก็บค่าบริการจอดรถจากรถทุกคันที่เข้ามาจอดในอาคารจอดรถตามอัตราที่กำหนด กรณี
ดังกล่าว การประกอบกิจการให้เช่าอาคารเพื่อประกอบธุรกิจศูนย์การค้าและเช่าเป็นอาคารสำนักงาน
เข้าลักษณะเป็นการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ต)
แห่งประมวลรัษฎากร และการให้บริการพื้นที่จอดรถเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10)
แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการพื้นที่จอดรถตามมาตรา
77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.90/2542 ฯ ลงวันที่ 29
ตุลาคม พ.ศ. 2542
2. กรณีบริษัทฯ ก่อสร้างอาคารเพื่อให้เช่าและให้บริการพื้นที่จอดรถด้วย โดยอาคารจอดรถ
อยู่ในอาคารเดียวกันกับอาคารที่ให้เช่า บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อทั้งหมดที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร
ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารที่
จะนำไปหักออกจากภาษีขาย ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไขเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
3. กรณีข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการพื้นที่ จอดรถและ
ได้เฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากากรก่อสร้างอาคารเพื่อให้เช่าและให้บริการพื้นที่จอดรถตั้งแต่เริ่มมีการ
ให้บริการตามสัญญาเป็นต้นมา ถือว่าบริษัทฯ ปฏิบัติถูกต้องตามประมวลรัษฎากรแล้ว
เลขตู้: 63/29994

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020