เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.03)/1903
วันที่: 25 ธันวาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(6)
ข้อหารือ: กรณีที่กรมสรรพากรได้มีหนังสือที่ กค 0811/ว.2497 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2543 เรื่อง ซ้อม
ความเข้าใจเกี่ยวกับเงินได้จากวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลป การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และ
การจัดทำบัญชีพิเศษของสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน โรงพยาบาลฯ จึงหารือทางปฏิบัติ
เกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ดังต่อไปนี้
(1) โรงพยาบาลฯ ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากค่าตอบแทนที่ถือเป็น
เงินได้พึงประเมินจากการประกอบโรคศิลป ตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหนังสือซ้อม
ความเข้าใจดังกล่าวใช่หรือไม่
(2) โรงพยาบาลฯ ไม่ต้องกรอกรายการจ่ายเงินตาม (1) ในบัญชีพิเศษตาม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 10) เรื่อง กำหนดให้ผู้ดำเนินการ
สถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน มีบัญชีพิเศษตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 6
กันยายน พ.ศ.2522 ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: (1) กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปทำสัญญาหรือข้อตกลงกับโรงพยาบาลฯ เพื่อขอใช้
สถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์เพื่อประกอบโรคศิลปในนามของผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลป เพื่อ
ตรวจและรักษาผู้ป่วย และมีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร แบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วยไม่ว่า
ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนจากผู้ป่วยเองทั้งจำนวน หรือโรงพยาบาลฯ
เป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าตรวจรักษาแทนแล้วนำมาจ่ายให้กับผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปเพื่อแบ่ง
รายได้ให้แก่โรงพยาบาลฯ ถือว่าเงินค่าตอบแทนที่ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปได้รับจากผู้ป่วยทั้ง
จำนวน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เฉพาะเงินส่วนแบ่งที่เหลือ
หลังจากหักส่วนแบ่งให้โรงพยาบาลฯ แล้ว และเนื่องจากโรงพยาบาลฯ มิใช่ผู้จ่ายเงินได้ จึงไม่มีหน้าที่
หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 7 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.
2528 และไม่ต้องกรอกรายการจ่ายเงินดังกล่าวในบัญชีพิเศษตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 10)ฯ ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2522
(2) กรณีแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลฯ มีความสัมพันธ์กับโรงพยาบาลฯ ในฐานะนายจ้าง
ลูกจ้างโดยได้รับค่าตอบแทนปกติเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำ และได้รับค่าตอบแทนพิเศษจากการ
เข้าเวร ค่าจ้างที่ได้รับและค่าเวรของแพทย์ดังกล่าวถือเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เข้า
ลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้ากรณีเป็นแพทย์จากภายนอก
มาให้การรักษาเป็นครั้งคราวในโรงพยาบาลฯ ไม่มีความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างลูกจ้างกับโรงพยาบาลฯ
โดยได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้างจากการทำงานดังกล่าว ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรืองานที่รับทำนั้น
จะเป็นงานประจำหรือชั่วคราว และได้รับค่าตอบแทนพิเศษจากการเข้าเวร ค่าตอบแทนที่ได้รับและค่า
เวรของแพทย์ดังกล่าวถือเป็นค่าตอบแทนที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงาน
ให้ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าจ้าง ค่าตอบแทนและ
ค่าเวรของแพทย์ที่โรงพยาบาลฯ จ่ายดังกล่าว โรงพยาบาลฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และ
นำส่งตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/30030

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020