เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./7836
วันที่: 20 สิงหาคม 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุโลมใช้ใบกำกับภาษีที่มีชื่อและที่อยู่ไม่ตรงตามที่ได้จดทะเบียนไว้ใน แบบ ภ.พ.09
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/5(2), มาตรา 86/4(3), มาตรา 90(12)
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 ณ
สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขารวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 แจ้งย้ายที่อยู่ตั้งแต่
วันที่ 22 มีนาคม 2547 ต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 เมษายน 2547 ถึง สำนักงาน
สรรพากรภาคแจ้งว่า หน่วยงานของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชนหลายหน่วยงานไม่สามารถ
เปลี่ยนแปลงชื่อ ที่อยู่ ของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามชื่อ ที่อยู่ ที่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงในแบบ ภ.พ.09 ได้ทัน
ใบกำกับภาษีที่ได้รับจึงยังคงเป็นชื่อและที่อยู่เดิม บริษัทฯ จึงขออนุโลมใช้ใบกำกับภาษีดังกล่าว เป็น
หลักฐานการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มภาษี
แนววินิจฉัย: 1. บริษัทฯ ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2547 และขอเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ
ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2547 โดยบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ซึ่งเป็น
หน่วยงานรับจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ดังนั้น หลังจากวันที่บริษัทฯ แจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อและที่อยู่แล้ว
เมื่อผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ ก็ต้องระบุชื่อและที่อยู่ ของบริษัทฯ ตามที่ได้
แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากระบุชื่อและที่อยู่เดิมของบริษัทฯ ถือเป็นใบกำกับภาษีที่
ระบุชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้อง
หรือไม่สมบูรณ์ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) ผู้ออกใบกำกับภาษีต้องรับผิดตาม
มาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร
2. บริษัทฯ ต้องร้องขอให้ผู้ออกใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและ
จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยให้ระบุชื่อบริษัทฯ และที่อยู่ให้ถูกต้อง บริษัทฯ จึงจะมีสิทธินำไปถือเป็น
ภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่
สามารถดำเนินการได้ดังนี้
2.1 ให้บริษัทฯ ถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ขอยกเลิกติดเรื่องไว้และส่งมอบ
ใบกำกับภาษีฉบับเดิมให้แก่ผู้ออกใบกำกับภาษี
2.2 ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีนำใบกำกับภาษีฉบับเดิมมาประทับตราว่า "ยกเลิก" หรือ
"ขีดฆ่า" แล้วเก็บรวบรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ซึ่งเป็นเลขที่
ใหม่และจะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิมพร้อมทั้งหมายเหตุไว้ใน
ใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า "เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่..... เล่มที่
....."
2.3 ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ หมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ใน
รายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย
เลขตู้: 67/33100


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020