เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./7452
วันที่: 6 สิงหาคม 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8), มาตรา 77/1(11), มาตรา 77/1(12), มาตรา 77/1(18)(ค), มาตรา 77/2, มาตรา 78(1), มาตรา 82/3, มาตรา 82/4, มาตรา 83/6, มาตรา 86, มาตรา 86/4
ข้อหารือ: ดำเนินธุรกิจแบบ Drop Ship และ Consignment ในระบบ Just In Time ดังต่อไปนี้
1. ระบบ Drop Ship
บริษัท A ในประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกได้รับการส่งเสริมการลงทุนบริษัท A สั่งซื้อ
สินค้าในราคาสกุลเงินดอลล่าร์จากบริษัท B ซึ่งอยู่ต่างประเทศ บริษัท B มีบริษัท C ซึ่งอยู่ใน
ประเทศไทยเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าโดยบริษัท B ได้มีคำสั่งให้บริษัท C เป็นผู้จัดส่งสินค้าให้บริษัท A เมื่อ
ถึงกำหนดส่งของบริษัท C จะออกแต่ใบส่งของเป็นสกุลเงินบาทให้บริษัท A
1.1 ระหว่างบริษัท A และบริษัท B เป็นการซื้อขายในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ เมื่อ
บริษัท A จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าให้บริษัท B บริษัท A ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท B ใช่หรือไม่
และบริษัท A นำมาถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่ หากบริษัท A ต้องออกภาษีมูลค่าเพิ่มให้บริษัท B โดยคำนวณ
ตามระเบียบของกรมสรรพากร บริษัท A นำมาถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่
1.2 เมื่อบริษัท C ส่งของให้บริษัท A และเรียกเก็บเงินจากบริษัท B บริษัท C ต้อง
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ใด และบริษัท C สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
2. ระบบ Consignment
บริษัท A อยู่ในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยเป็นผู้ผลิตและส่งออก และ
เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท A สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท B หรือบริษัทอื่นซึ่งอยู่ใน
ต่างประเทศ ซึ่งบริษัทในต่างประเทศจะต้องส่งวัตถุดิบมาเก็บไว้ในคลังสินค้าของบริษัท A ตามข้อตกลง
ทางการค้า โดยจะมี Third Parties เป็นผู้ดูแล หรือบริษัท A เป็นผู้ดูแลเองและควบคุมการเบิกจ่าย
วัตถุดิบดังกล่าว บริษัท A มีเงื่อนไขในการชำระเงินเมื่อบริษัท A ได้มีการเบิกวัตถุดิบนั้นจากคลังสินค้า
ไปใช้ในกระบวนการผลิต โดยวัตถุดิบคงเหลือในคลังสินค้าดังกล่าว ยังคงถือเป็นของบริษัทต่างประเทศ
ตามข้อตกลงทางการค้า โดย Third Parties หรือบริษัท A จะเป็นผู้รายงานวัตถุดิบคงเหลือ และ
รายการเบิกจ่ายให้บริษัทในต่างประเทศทราบเป็นงวด ๆ ไป ทั้งนี้ บริษัท A ต้องเป็นผู้ดำเนินพิธีการ
ศุลกากรขาเข้าตามสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ บริษัท A เป็นผู้นำเข้าโดยใช้สิทธิในการดำเนินพิธีการศุลกากร
และนำวัตถุดิบไปเก็บไว้ที่คลังสินค้าของบริษัท A วัตถุดิบดังกล่าวจะถือเป็นของบริษัท A หรือไม่
เนื่องจากมีเงื่อนไขว่าบริษัท A จะชำระเงินเมื่อมีการเบิกวัตถุดิบมาใช้ นอกจากนี้ หากบริษัทใน
ราชอาณาจักรต้องการส่งวัตถุดิบเข้าไปเก็บไว้ในคลังสินค้าดังกล่าว ต้องมีภาระภาษีหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ระบบ Drop Ship
1.1 กรณีบริษัท A ในประเทศไทยสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท B ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ แต่
บริษัท B มีบริษัท C ซึ่งอยู่ในประเทศไทยเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้า โดยบริษัท B ได้มีคำสั่งให้บริษัท C เป็น
ผู้จัดส่งสินค้าให้บริษัท A การซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัท A และบริษัท B เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า
ในราชอาณาจักร โดยผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าได้มีการส่งมอบสินค้าใน
ราชอาณาจักร ดังนั้น เมื่อบริษัท A จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าให้บริษัท B บริษัท A มีหน้าที่ต้องนำส่งเงิน
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท B มีหน้าที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 7.0 โดยบริษัท A ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดังกล่าวด้วยแบบ ภ.พ.36 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินตามมาตรา 83/6(1)
แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท A ได้นำส่งดังกล่าว บริษัท A ย่อมนำมาถือเป็นภาษีซื้อ
ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 77/1(18)(ค) และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 เมื่อบริษัท C ตกลงขายสินค้าและเรียกเก็บเงินจากบริษัท B ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ
แต่ได้ส่งมอบสินค้าให้บริษัท A ซึ่งอยู่ในประเทศไทยตามคำสั่งซื้อของบริษัท B ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ เข้า
ลักษณะเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักรตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัท C ผู้ขายสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของมูลค่า
สินค้าตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัท C ต้องจัดทำใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท B ผู้ซื้อในต่างประเทศ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ทั้งนี้
ตามมาตรา 78(1) มาตรา 82/4 มาตรา 86 และมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. ระบบ Consignment
กรณีบริษัท A อยู่ในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยเป็นผู้ผลิตและส่งออก ได้
สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในต่างประเทศ โดยบริษัทในต่างประเทศจะต้องส่งวัตถุดิบมาเก็บไว้ในคลังสินค้า
ของบริษัท A ตามข้อตกลงทางการค้า ซึ่งจะมี Third Parties หรือบริษัท A เป็นผู้ดูแลและควบคุม
การเบิกจ่ายวัตถุดิบดังกล่าว เมื่อวัตถุดิบนั้นอยู่ในความครอบครองของบริษัท A ถือได้ว่า
บริษัทต่างประเทศได้ขายวัตถุดิบดังกล่าวให้บริษัท A แล้วตามนิยามของคำว่า "ขาย" ตามมาตรา
77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัท A ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อนำวัตถุดิบนั้นเข้ามา
ในราชอาณาจักร บริษัท A มีฐานะเป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 77/1(11) และมาตรา 77/1(12) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และบริษัท A มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 87
แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีบริษัทในราชอาณาจักรต้องการส่งวัตถุดิบเข้าไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของบริษัท A หาก
ได้มีการจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าดังกล่าวให้บริษัท A ย่อมถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)
แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทในราชอาณาจักรผู้ส่งวัตถุดิบดังกล่าวเข้าไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของบริษัท A
มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และส่งมอบใบกำกับภาษีให้บริษัท
A เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78(1) มาตรา 82/4 และมาตรา 86
แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/33075


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020