เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./7496
วันที่: 9 สิงหาคม 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการคำนวณเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 89, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542ฯ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.81/2542ฯ
ข้อหารือ: กรณีสำนักงานสรรพากรพื้นที่พบว่า ห้างฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือน
ภาษีเมษายน 2544 โดยมีประเด็นความผิดตามข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ห้างฯ นำใบกำกับภาษีซื้อมาลงรายการในรายงานภาษีซื้อซ้ำ 2 ครั้ง ทำให้แสดงภาษีซื้อ
ไว้เกิน จำนวน 89,244.09 บาท
2. ห้างฯ นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้เป็นเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 84,061.90 บาท
แนววินิจฉัย: การคำนวณเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มให้พิจารณาดังนี้
1. เจ้าพนักงานประเมินต้องคำนวณเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มทุกกรณี ตามฐาน ความผิดต่าง ๆ
ตามมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร และตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.81/2542 ฯ กรณีการกระทำ
ความผิดใดที่อยู่ในฐานความผิดเดียวกันจะกำหนดให้เรียกเก็บเบี้ยปรับเพียงกรณีเดียวซึ่งเป็นกรณีที่จะ
ทำให้เรียกเก็บได้เงินเป็นจำนวนมากกว่า เช่น ฐานความผิดเกี่ยวกับการยื่นแบบ ภ.พ.30 ไว้ไม่ถูกต้อง
ซึ่งมีทั้งกรณีแสดงภาษีซื้อไว้เกินไปและภาษีที่เสียคลาดเคลื่อน ก็ให้เรียกเก็บเบี้ยปรับเพียงกรณีเดียวตาม
ข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542 ฯ
กรณีคำนวณเบี้ยปรับตามมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ปรากฏว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษี
มีความรับผิดจะต้องเสียเบี้ยปรับหลายกรณี เช่น ความรับผิดเกี่ยวกับการยื่นแบบ ภ.พ.30 ไว้ไม่ถูกต้อง
และความรับผิดเกี่ยวกับการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าพนักงานประเมิน
จะต้องคำนวณเบี้ยปรับทุกกรณี แต่ก็มีอำนาจพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับให้ได้ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องตาม
ข้อ 23 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542 ฯ
2. กรณีคำนวณเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร และ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.81/2542 ฯ แล้ว เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณางดหรือลด เบี้ยปรับ
ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 ฯ ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
เกี่ยวกับการงดหรือลดเบี้ยปรับตามฐานความผิดต่าง ๆ และในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องเสียเบี้ยปรับ
หลายกรณี ก็กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินสั่งเรียกเก็บเบี้ยปรับได้เพียงกรณีเดียว ซึ่งเป็นกรณีที่จะทำให้
เรียกเก็บได้เงินเป็นจำนวนมาก และอาจพิจารณาสั่งลดได้อีกตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนด ทั้งนี้ ตามข้อ 12
ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 ฯ
3. กรณีตามข้อเท็จจริงจึงต้องคำนวณเบี้ยปรับตามฐานความผิดตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
81/2542 ฯ ก่อน และเรียกเก็บเบี้ยปรับซึ่งอาจพิจารณาลดให้ได้อีกตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
81/2542 ฯ ดังนี้
กรณีตรวจพบว่ายื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนภาษีเมษายน 2544 ผิดพลาดดังนี้
(1) แสดงภาษีซื้อเกินไป จำนวน 89,244.09 บาท
(2) นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้เป็นเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 84,061.90 บาท
การคำนวณเบี้ยปรับตามฐานความผิด
1. กรณีนำใบกำกับภาษีซื้อมาลงรายการในรายงานภาษีซื้อซ้ำกัน 2 ครั้ง เป็นการยื่นแบบ
ภ.พ.30 ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป
ต้องเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป จำนวน 89,244.09 บาท ตามมาตรา
89(4) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 3(8) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.81/2542 ฯ และการยื่นแบบ
ภ.พ.30 ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดดังกล่าว หากเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษี
คลาดเคลื่อนไป ต้องเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อน เป็นเงิน 89,244.09 บาท
ตามมาตรา 89(3) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.81/2542 ฯ ซึ่ง
กรณีดังกล่าวให้เรียกเก็บเบี้ยปรับเพียงกรณีเดียว ซึ่งเป็นกรณีที่จะทำให้เรียกเก็บได้เงินเป็นจำนวน
มากกว่า จึงเรียกเก็บเบี้ยปรับเพียง 89,244.09 บาท ทั้งนี้ ตามข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
81/2542 ฯ
2. กรณีนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นการยื่นแบบ ภ.พ.30
ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป ต้องเสีย
เบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป จำนวน 84,061.90 บาท ตามมาตรา 89(4)
แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 3(8) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.81/2542 ฯ และการยื่นแบบ
ภ.พ.30 ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดดังกล่าว หากเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษี
คลาดเคลื่อนไป ต้องเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อน เป็นเงิน 84,061.90 บาท
ตามมาตรา 89(3) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.81/2542 ฯ ซึ่ง
กรณีดังกล่าวให้เรียกเก็บเบี้ยปรับเพียงกรณีเดียวซึ่งเป็นกรณีที่จะทำให้เรียกเก็บได้เงินเป็นจำนวน
มากกว่า จึงเรียกเก็บเบี้ยปรับเพียง 84,061.90 บาท ตามข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
81/2542 ฯ และต้องเสียเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีด้วย เป็นเงิน 168,123.80
บาท ตามมาตรา 89(7) แห่งประมวลรัษฎากร
การเรียกเก็บเบี้ยปรับตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 ฯ
เบี้ยปรับที่จะต้องเรียกเก็บ 2 กรณี คือ
1. เบี้ยปรับตามมาตรา 89(3) และมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากรรวมจำนวน
173,305.99 บาท (89,244.09 + 84,061.90 บาท)
2. เบี้ยปรับตามมาตรา 89(7) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 168,123.80 บาท ให้
เรียกเก็บเบี้ยปรับได้เพียงกรณีเดียวซึ่งเป็นกรณีที่จะทำให้เรียกเก็บได้เงินเป็นจำนวนมากกว่า คือ
173,305.99 บาท ส่วนกรณีอื่นให้งด ตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 ฯ และ
เบี้ยปรับที่เรียกเก็บเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3) และมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร
เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาสั่งลดได้อีกตามข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 ฯ
เลขตู้: 67/33080


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020