เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6592
วันที่: 13 กรกฎาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและใบอนุญาตโรงเรียน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(3), มาตรา 40(8), มาตรา 77/1(8), มาตรา 77/1(9), มาตรา 77/2 มาตรา 81(1)(ช)
ข้อหารือ:           กรณีการซื้อขายที่ดินระหว่างนาย ค. และนาง ว. ผู้ขาย กับ นาย ส. ผู้ซื้อ ตามสัญญาขายที่ดิน ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2543 และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ลงวันที่ 24 เมษายน 2543 ปรากฏ ข้อเท็จจริงดังนี้
           1. สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ลงวันที่ 24 เมษายน 2543 ระบุขายที่ดินตำบล วัดโคก อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ดินประมาณ 10 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างและใบอนุญาต โรงเรียน อ. และใบอนุญาตโรงเรียน พ. รวมทั้งทรัพย์สินอื่นตามรายการทรัพย์สินแนบท้ายสัญญา พร้อมทั้งเป็นผู้ครอบครองดูแลมีอำนาจจัดการ มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินกิจการเป็นผู้บริหารงาน ครู จำนวน 36 คน นักการภารโรงจำนวน 5 คน และนักเรียนจำนวน 1,021 คน (โอนกิจการโรงเรียน ทั้งหมด) ในราคารวม 12,000,000.- บาท

           2. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ได้ทำนิติกรรมหนังสือสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคาร เรียน 2 หลัง ในราคา 4,500,000.- บาท เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 183,844.- บาท อากรแสตมป์จำนวน 24,316.- บาท

           3. จากการสอบถามข้อมูลจากผู้ซื้อ ปรากฏว่า ได้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารเรียน 2 หลังในราคา 12,000,000.- บาท พร้อมใบอนุญาตประกอบกิจการโรงเรียนทั้ง 2 แห่ง (โอนกิจการโรงเรียน) ทรัพย์สินอื่น ๆ มิได้ทำรายละเอียดหรือกำหนดมูลค่าไว้

           จึงหารือว่า นาย ค. และ นาง ว. มีภาระต้องเสียภาษีอากรอย่างไร

แนววินิจฉัย:           1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณี นาย ค. และ นาง ว. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้างและใบอนุญาตโรงเรียน อ. และใบอนุญาตโรงเรียน พ. โดยทำสัญญาโอนขายให้กับนาย ส. ในราคารวมทั้งสิ้น 12,000,000.- บาท ซึ่งไม่มีรายการและราคาของทรัพย์สินอื่นแนบท้ายสัญญาและ ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ระบุขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4343 พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารเรียน 2 หลัง ราคา 4,500,000.- บาท เป็นเงินได้จาก การขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับส่วน ต่างจำนวน 7,500,000.- บาท ที่นายคมคายฯ และนางวรนารถฯ ได้รับเป็นค่าตอบแทนจากการ โอนสิทธิตามใบอนุญาตโรงเรียน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าสิทธิตามมาตรา 40(3) แห่ง ประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษีที่ได้รับเงินได้ด้วย

           2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนาย ค. และ นาง ว. ได้โอนขายใบอนุญาตโรงเรียน อ.และ ใบอนุญาตโรงเรียน พ. ให้กับนาย ส. ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และ มาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เมื่อปรากฏว่า ผู้ประกอบการประกอบกิจการ โรงเรียนเอกชนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร สิทธิตาม ใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนจึงเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการโอนสิทธิตามใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนให้บุคคลอื่น ผู้ประกอบการไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากไม่ใช่การประกอบการในทางธุรกิจที่ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

เลขตู้: 67/33024


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020