เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./6483
วันที่: 8 กรกฎาคม 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอคืนภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 84/1(2), มาตรา 82/4 วรรคสี่, มาตรา 77/1(18), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมันดีเซลกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย
ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 390) พ.ศ. 2544 โดยมีข้อเท็จจริงว่า
1. ในเดือนภาษีมกราคม 2545 ถึงเดือนภาษีกรกฎาคม 2545 บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) โดยแสดงยอดขายจากค่าขนส่งในช่องที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. ต่อมาบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมโดยนำยอดขายน้ำมันในส่วนที่หักค่าขนส่งแล้วมา
ยื่นเป็นยอดขายที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำยอดซื้อน้ำมันจากบริษัท อ มายื่นยอดซื้อเพิ่มเติม เพื่อ
นำภาษีซื้อมาขอคืนภาษี รวมเป็นเงิน 13,583,104.28 บาท จึงหารือกรณีการตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับเดือนภาษีช่วงดังกล่าว
แนววินิจฉัย: 1. ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 403) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้ค้าน้ำมันดีเซล
ได้ขายน้ำมันดีเซลให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของ
ราชอาณาจักรไทย โดยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม
2545 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 แต่ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
2545 (ให้ยกเว้นภาษีย้อนหลัง)
2. หากเป็นการขายน้ำมันดีเซลที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในระหว่างวันที่
1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 403) พ.ศ. 2545 จะประกาศใช้
บังคับ บริษัท อ ต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายน้ำมันดีเซลที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อพระราชกฤษฎีกาฉบับ
ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่
23 กรกฎาคม 2545 โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายน้ำมันดีเซลดังกล่าว ตั้งแต่วันที่
1 มกราคม 2545 ดังนั้น กรณีที่บริษัท อ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 7.0 โดย
ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นการยื่น
แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ถูกต้อง บริษัท อ จึงมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้เสียไปได้ โดย
ให้ยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวตามมาตรา 84/1(2) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้อน้ำมันดีเซลจากบริษัท อ และได้ถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก
การขายน้ำมันดีเซลที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 2. เนื่องจากน้ำมันดีเซลของบริษัท อ ที่ขายให้
บริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กล่าวใน 2. ดังนั้น บริษัท อ จึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ ตามมาตรา 82/4 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ก็ไม่จำต้อง
ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท อ การที่บริษัท อ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่
บริษัทฯ ชำระให้แก่บริษัท อ ดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อตามมาตรา 77/1(18) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวมาถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ชอบที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท อ ที่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ
โดยตรง
เลขตู้: 67/33021


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020