เลขที่หนังสือ | : กค 0706/7007 |
วันที่ | : 23 กรกฎาคม 2547 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ราย บริษัทบริหารสินทรัพย์ทวี จำกัด |
ข้อกฎหมาย | : พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2542, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 79)ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 โดยมีธนาคาร ก จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง กรณีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 1. บริษัทฯ รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากธนาคารฯ หากธนาคารฯ กับบริษัทฯ มีข้อตกลง ในปี 2544 ว่า ธนาคารฯ ยอมหักรายจ่ายอื่นในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของธนาคารฯ ลดลงเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทฯ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับเงินปันผล บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2542 เริ่มตั้งแต่ปี 2544 ใช่หรือไม่ 2. บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับโอนมาจาก ธนาคารฯ ในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง แต่บริษัทฯ ประกาศจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นใน รอบระยะเวลาบัญชีถัดไปหรือในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น บริษัทฯ มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม 1. ในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีผลกำไรตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์การถือหุ้นของธนาคารฯ เทียบกับจำนวนกำไร ทั้งหมดของบริษัทฯ ซึ่งธนาคารฯ จะต้องลดรายจ่ายอื่นในการคำนวณกำไรของธนาคารฯ ลงเป็นจำนวน เท่ากับกำไรที่บริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ใช่หรือไม่ 3. รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับเงินปันผลตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 79) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2543 นั้น หมายถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดกำไร ทางภาษี ซึ่งมีการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อจ่ายเงินปันผล เช่น บริษัทฯ ประกาศปิดสมุดทะเบียน พักการโอนหุ้นเพื่อจ่ายเงินปันผลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ในวันที่ 1 เมษายน 2545 รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับเงินปันผลซึ่งธนาคารฯ จะต้องลดรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของธนาคารฯ คือ รอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ใช่หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัทฯ เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 โดยมีธนาคารฯ ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง เข้าลักษณะเป็น บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถาบันการเงินถือหุ้นอยู่เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง หาก บริษัทฯ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 79)ฯ ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2543 บริษัทฯ ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ กำไรสุทธิที่ได้จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริษัทฯ รับซื้อหรือรับโอนจากธนาคารฯ เท่ากับจำนวน ที่บริษัทฯ จ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ธนาคารฯ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2542 2. กรณีบริษัทฯ มีกำไรสุทธิที่ได้จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนมาจาก ธนาคารฯ หากบริษัทฯ ประกาศปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อดำเนินการจ่ายเงินปันผลของ รอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 นั้น บริษัทฯ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่ง พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 79)ฯ ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2543 ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 นั้น |
เลขตู้ | : 67/33050 |