เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6482
วันที่: 8 กรกฎาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (4), กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)
ข้อหารือ: ตามหนังสือที่อ้างถึงแจ้งว่า บริษัท เค และบริษัท ซี ได้ทำสัญญาค้ำประกันสินเชื่อของบริษัท อ
โดยบริษัททั้งสองมีมติของกรรมการอนุมัติการดำเนินการดังกล่าว และตามวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ที่ได้
จดทะเบียนไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์ ต่อมาบริษัท อ มีปัญหาทางด้านการเงินและปิดกิจการลง
สถาบันการเงินจึงเรียกร้องให้บริษัททั้งสองชำระหนี้แทนตามสัญญาค้ำประกัน และเมื่อบริษัททั้งสองได้
ชำระเงินให้กับสถาบันการเงินแล้ว ก็ตั้งบริษัท อ เป็นลูกหนี้และเรียกเก็บดอกเบี้ยตามอัตราตลาด บริษัทฯ
ทั้งสองจะรับรู้รายได้ดอกเบี้ยในการคำนวณกำไรสุทธิ โดยเริ่มคิดดอกเบี้ยนับจากวันที่ได้รับช่วงสิทธิ
ตามกฎหมาย แต่ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม ค่าค้ำประกันจากบริษัท อ ต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาให้บริษัท
อ ล้มละลาย บริษัททั้งสองจึงได้ยื่นขอรับชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ และ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำลังอยู่ในระหว่างสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหมด นอกจากนี้
บริษัท C ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัท อ เป็นผู้ถือหุ้น และเมื่อสถาบันการเงินในประเทศไทยเป็น
เจ้าหนี้ของบริษัท C และเรียกร้องให้บริษัททั้งสองชำระหนี้แทนบริษัท C ตามสัญญาค้ำประกัน ในปัจจุบัน
บริษัท C อยู่ระหว่างกระบวนการล้มละลายภายใต้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. บริษัท เค และบริษัท ซี จะสามารถจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับกรณีลูกหนี้ราย
บริษัท อ และเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาให้บริษัท อ ล้มละลาย และได้มีการแบ่งทรัพย์สินของบริษัท อ
ครั้งแรกแล้วได้หรือไม่
2. บริษัท เค จะสามารถจำหน่ายหนี้สูญเนื่องจากภาระค้ำประกัน บริษัท C ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. การที่บริษัท เค และบริษัท เค มีวัตถุประสงค์ค้ำประกันตามหนังสือบริคณห์สนธิ ดังนั้น หนี้
ตามสัญญาค้ำประกันที่บริษัททั้งสองชำระหนี้แทนลูกหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน จึงเป็นหนี้จากการ
ประกอบกิจการของบริษัท และเมื่อได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องใน
คดีล้มละลาย และในกรณีเป็นลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย และได้มีการแบ่งทรัพย์สินของ
ลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว บริษัททั้งสองก็มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ และถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ
กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่เข้าตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ของ
กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญ
จากบัญชีลูกหนี้ แต่การที่บริษัททั้งสองไม่คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ถือว่าเป็นการให้บริการ
โดยไม่มีค่าตอบแทนและไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทฯ จึงต้องนำรายได้ดังกล่าวมาคำนวณ
ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ส่วนการจำหน่ายหนี้สูญการค้ำประกันบริษัท C ไม่สามารถวินิจฉัยได้ เนื่องจากไม่มี
เอกสารประกอบการพิจารณา
เลขตู้: 67/33020


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020