เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5932
วันที่: 22 มิถุนายน 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าใช้จ่ายของผู้ชำนาญการต่างด้าว
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41, มาตรา 65 ตรี (13), มาตรา 82/3 และมาตรา 82/5(3)
ข้อหารือ: บริษัท ฮ. จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์
และเครื่องยนต์เอนกประสงค์ ตามบัตรส่งเสริมเลขที่ 1788/2540 ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2540
บริษัทฯ ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 25 โดย
สามารถที่จะนำคนต่างด้าว ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการเข้ามาในราชอาณาจักรได้ โดยบริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบ
ในการจัดหาที่พักอาศัย ขณะที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทย โดยผู้ชำนาญการดังกล่าวมิได้ประกอบอาชีพอื่น
หรือปฏิบัติหน้าที่อื่นนอกเหนือจากขอบเขตหน้าที่ของตำแหน่งงาน บริษัทฯ ขอทราบว่า
1. ค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์ และค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์ ของผู้ชำนาญการ ถือเป็นรายจ่ายที่
เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ สามารถถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทฯ ได้
ใช่หรือไม่
2. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับค่าที่พัก (ค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์ และค่าบริการ) ที่มีภาษีซื้อบริษัทฯ
สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ใช่หรือไม่
3. ค่าที่พัก ดังกล่าวถือเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานของผู้ชำนาญการ ตามมาตรา
40(1) ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. บริษัท ฮ. จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการวิจัยและพัฒนา
รถจักรยานยนต์และเครื่องยนต์เอนกประสงค์ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 โดยได้
รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวซึ่งเป็นช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการเข้ามาในประเทศไทยเพื่อประโยชน์แก่กิจการ
ของบริษัทฯ เพื่อฝึกอบรมคนไทยให้ได้รับความรู้ความชำนาญให้สามารถปฏิบัติงานแทนช่างฝีมือหรือ
ผู้ชำนาญการซึ่งเป็นคนต่างด้าว ดังนั้น ค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์และค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์ของผู้ชำนาญการ
ดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ มีสิทธิถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ
กำไรสุทธิของบริษัทฯ ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับค่าที่พัก (ค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์และค่าบริการ) ที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่
ผู้ชำนาญการจากต่างประเทศที่เข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน
พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นการเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์แก่กิจการของบริษัทฯ ที่ถือเป็นค่าใช้จ่าย
ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ ย่อมมีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหัก
ออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องห้ามตาม
มาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อคำนวณภาษีแล้ว มีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย บริษัทฯ
มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
3. ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับค่าที่พักของผู้ชำนาญการที่บริษัทฯ จ่ายแทนผู้ชำนาญการ
ถือเป็นผลประโยชน์อื่น ๆ เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากหน้าที่งานในประเทศไทย ตามมาตรา 41
วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/32996


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020