เลขที่หนังสือ | : กค 0706/5599 |
วันที่ | : 14 มิถุนายน 2547 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่พนักงานได้รับเนื่องจากไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 42 (1) |
ข้อหารือ | : ตามหนังสือที่อ้างถึงแจ้งว่า บริษัทฯ เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการ เกี่ยวกับการให้บริการหลังการขาย โดยให้บริการติดตั้งเครื่องผลิตซีดีและดีวีดี และให้คำแนะนำวิธีการ ใช้งานให้แก่ลูกค้าที่อยู่ในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงต้องส่งพนักงานไปปฏิบัติงานดังกล่าวในต่างประเทศ โดยพนักงานจะได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรายวันตามอัตราที่บริษัทฯ กำหนด ซึ่งมีหลายอัตราขึ้นอยู่กับ ประเทศที่พนักงานไปปฏิบัติงาน บริษัทฯ เข้าใจว่าค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่พนักงานได้รับดังกล่าว ได้รับ ยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเป็น เงินได้ของพนักงานหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบริษัทฯ จะไม่นำค่าเบี้ยเลี้ยง ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็น เงินได้ของพนักงาน หากค่าเบี้ยเลี้ยงที่จ่ายให้แก่พนักงานไม่เกินอัตรา ค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ แต่หากค่าเบี้ยเลี้ยงที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่ พนักงานเกินกว่าอัตราที่ทางราชการกำหนด บริษัทฯ จะนำเฉพาะส่วนที่เกินมารวมเป็นเงินได้ของ พนักงาน บริษัทฯ จึงหารือว่า ความเข้าใจดังกล่าวของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : เงินค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่พนักงานได้รับเนื่องจากเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ใน ต่างประเทศเป็นครั้งคราวนั้น จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้อง เป็นกรณีที่พนักงานได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและ ได้จ่ายไปทั้งหมดเพื่อการนั้น และหากพนักงานได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราไม่เกินอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป ราชการในประเทศหรือต่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย ให้ถือว่า ค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งผู้มีเงินได้ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะใน การปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น จึงไม่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาพิสูจน์ และได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(1) แห่ง ประมวลรัษฎากร สำหรับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่าย ให้แก่ ข้าราชการ และไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้อง ปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ซึ่งผู้มีเงินได้ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเพียงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตราสูงสุดนั้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องนำค่าเบี้ยเลี้ยงที่เกินอัตราดังกล่าวมารวมเป็นเงินได้ของผู้มีเงินได้เพื่อหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 67/32983 |