เลขที่หนังสือ | : กค 0706/4328 |
วันที่ | : 4 พฤษภาคม 2547 |
เรื่อง | : ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 91/2(6) |
ข้อหารือ | : บริษัท บ. ประกอบกิจการรับจ้างปลูกสร้างบ้าน โดยบริษัท บ. ได้ปลูกบ้านทาวน์เฮ้าส์ลงบน ที่ดินโฉนดเลขที่ 00007 ที่มี บริษัท พ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ บริษัททั้งสองไม่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อบริษัททั้งสองต้องการขายที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมบ้านให้แก่ นางสาว ป. แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์ของกรมที่ดินผู้เป็นเจ้าของบ้านจะต้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะขายเสียก่อน จึงจะ โอนกรรมสิทธิ์บ้านให้แก่ผู้ซื้อได้ ดังนั้น บริษัท พ. จึงยินยอมให้บริษัท บ. เข้าร่วมถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น จำนวน 5 ส่วน ในจำนวน 25 ส่วน โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 25,000 บาท ตามบันทึกข้อตกลง เรื่องกรรมสิทธิ์รวม ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2536 และเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2536 ได้ขายที่ดินพร้อม บ้านนั้นให้แก่นางสาว ป. ในราคา 550,000 บาท โดยบริษัททั้งสองได้นำรายรับจากการขายดังกล่าว ไปแยกยื่นเสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้ตามส่วนแล้ว ในวันที่ 14 มกราคม 2537 ตามแบบ ภ.ธ.40 ในนาม ของบริษัท บ. แสดงรายรับจำนวน 450,000 บาท และแบบ ภ.ธ.40 ในนามของบริษัท พ. แสดง รายรับจำนวน 125,000 บาท |
แนววินิจฉัย | : กรณีบริษัท พ. ได้ให้บริษัท บ. เข้าร่วมถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 00007 จำนวน 5 ส่วน ในจำนวน 25 ส่วน เพื่อที่จะโอนขายที่ดินและบ้านให้แก่นางสาว ป. ได้ ไม่เข้าลักษณะ กิจการร่วมค้า ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากไม่เข้าลักษณะต่อไปนี้ 1. ได้ตกลงเข้าร่วมทุนกันไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงานหรือเทคโนโลยี หรือร่วมกันใน ผลกำไรหรือขาดทุนอันจะพึงได้ตามสัญญาที่กระทำร่วมกันกับบุคคลภายนอก หรือ 2. ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยระบุไว้ในสัญญาว่า เป็นกิจการร่วมค้า 3. ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยสัญญากำหนดให้ต้องรับผิดร่วมกันในงานที่ทำไม่ว่า ทั้งหมดหรือบางส่วน และต้องรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกันโดยสัญญาไม่ได้แบ่งแยกงานและค่าตอบแทน ระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน โดยที่บริษัททั้งสองมิได้ร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมกัน แต่เป็นกรณีที่บริษัท พ. ถือ กรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ก่อนได้ยินยอมให้บริษัท บ. เข้าร่วมถือกรรมสิทธิ์รวมในภายหลัง เมื่อบริษัททั้งสอง ขายที่ดินพร้อมบ้านไป เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยแยกเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจาก รายรับที่มีอยู่ในส่วน อสังหาริมทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวม ทั้งนี้ ตามข้อ 7(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.82/2542 เรื่อง การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 |
เลขตู้ | : 67/32921 |