เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4022
วันที่: 26 เมษายน 2547
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์และการขายชอร์ต
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(7)
ข้อหารือ: 1. ธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์
เนื่องด้วยมาตรา 91/2(7) แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์
ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 0.1 จากฐาน
รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 91/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยปัจจุบันธุรกรรมการค้า
หลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ.2534 ฉะนั้น หาก J ได้ขายหลักทรัพย์
ดังกล่าว ไม่ว่าหลักทรัพย์นั้นจะเป็นหุ้น หุ้นกู้ หรือพันธบัตรก็ตาม ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย J
ย่อมได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามนัยข้างต้น และเนื่องจากประมวลรัษฎากรจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ
จากรายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น (ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับ
ยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534) ดังนั้น ในกรณีที่ J ขายหลักทรัพย์นอก
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่ว่าหลักทรัพย์ดังกล่าว จะมีสภาพเป็นตราสารทุน เช่น หุ้น หรือ
ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ เช่น หุ้นกู้ หรือพันธบัตรก็ตาม J ใคร่ขอหารือว่า J ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด ถูกต้องหรือไม่
2. ธุรกรรมการขายชอร์ต
ในการประกอบกิจการของ J J เข้าทำสัญญาซื้อและขายคืนหลักทรัพย์ ตามนัยของ
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 350) พ.ศ. 2542 เพื่อให้ลูกค้าของ J กู้ยืมเงินโดยนำหลักทรัพย์มาเป็น
ประกันการกู้ยืม และ J จะโอนหลักทรัพย์คืนให้แก่ลูกค้าเมื่อลูกค้าชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยครบถ้วนตาม
กำหนด J จะนำดอกเบี้ยที่ได้รับชำระจากลูกค้ามารวมคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามนัยของ
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 350) พ.ศ.2542 ตามปกติ เนื่องจากธุรกรรมการซื้อและขายคืนหลักทรัพย์
ถูกจัดเป็นธุรกรรมการให้กู้ยืมเงินประเภทหนึ่ง J จะไม่บันทึกหลักทรัพย์ที่รับโอนเพื่อเป็นหลักประกัน เป็น
สินทรัพย์ของ J ในงบการเงินแต่อย่างใด แต่บันทึกเป็นธุรกรรมให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกัน ซึ่งเป็นไป
ตามหลักเกณฑ์ทางบัญชีและกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในระหว่างระยะเวลาที่ J ถือหลักทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกัน J อาจจะเข้าทำรายการ
ขายชอร์ตหลักทรัพย์ดังกล่าวออกไปในตลาด และเมื่อใกล้ถึงกำหนดที่ J จะต้องคืนหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้า J
ก็จะทำการซื้อหลักทรัพย์นั้น คืนจากตลาดและส่งมอบหลักทรัพย์นั้นให้แก่ลูกค้า ซึ่ง J จะต้องบันทึก
ธุรกรรมดังกล่าวเป็นธุรกรรมขายชอร์ตตามหลักการบัญชี และตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ
ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.78/2541 ฯ
ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2541 โดยข้อ 4.8 ของคำสั่งดังกล่าว ได้กำหนดวิธีการรับรู้รายได้เพื่อ
คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ กล่าวคือ หาก J ได้ยืมหลักทรัพย์และขายไป J จะต้องนำราคาปิดของ
หลักทรัพย์ในวันที่ยืมหลักทรัพย์นั้น มาถือเสมือนเป็นต้นทุนเพื่อคำนวณกำไรขาดทุนของ J ณ วันขาย โดย J
จะต้องทำการปรับปรุงกำไรขาดทุนอีกครั้งหนึ่งเมื่อ J ได้ซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวกลับคืนมา และคืนให้แก่ลูกค้า
ในส่วนของภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น หากการขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทย ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ J ใคร่ขอหารือว่าจะสามารถนำวิธีการรับรู้รายได้เพื่อ
คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่กำหนดไว้ในข้อ 4.8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ ลงวันที่
28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 มาถือเป็นวิธีการรับรู้รายได้เพื่อคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามนัยของ
มาตรา 91/8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรได้หรือไม่ และหาก J ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไปแล้วใน
ขณะขายโดยใช้วิธีการคำนวณข้างต้น ต่อมาเมื่อ J คืนหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าโดย J มีผลขาดทุนเกิดขึ้น J
จะได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับเฉพาะที่เป็นกำไรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จากการซื้อหรือ
ขายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ ในเดือนภาษีนั้น เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนที่เกิดจาก
การปรับปรุงกำไรขาดทุนตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 388) พ.ศ. 2544 ถูกต้อง
หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์
เนื่องจากมาตรา 91/2(7) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เฉพาะการขายหลักทรัพย์
ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับ
ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (ซึ่งในปัจจุบัน การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว ได้รับยกเว้น
ภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 3(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ.2534 ดังนั้น การขาย
หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนอกตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หุ้นกู้
หรือพันธบัตร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด
2. ในส่วนที่เกี่ยวกับเกณฑ์การคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขาย
หลักทรัพย์
เนื่องจากการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งในและ
นอกตลาดหลักทรัพย์ ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกณฑ์
การคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ดังกล่าว
เลขตู้: 67/32907


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020