เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3103
วันที่: 29 มีนาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการให้เช่ารถกระบะและรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/5(6), พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)
ข้อหารือ: บริษัท บ. ได้หารือกรมสรรพากรกรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่ารถกระบะและรถยนต์นั่ง
ส่วนบุคคล ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดหารถที่ให้เช่าด้วยวิธีเช่าซื้อ โดยบริษัทฯ จะชำระเงินดาวน์กับบริษัทผู้ขายรถ
ก่อนแล้วจึงชำระค่าเช่าซื้อ (เงินต้นรวมดอกเบี้ย) ผ่านบริษัทเงินทุน เป็นงวดเท่ากันทุกงวดมีกำหนด
ระยะเวลา 3 ปี และบริษัทฯ จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในรถเมื่อบริษัทฯ ได้ชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายแล้ว
บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. กรณีรถกระบะที่เช่าซื้อมีราคา 440,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) บริษัทฯ
ชำระเงินดาวน์เป็นจำนวนร้อยละ 15 ของราคารถกระบะ โดยบริษัทฯ จะบันทึกบัญชีรถกระบะที่เช่าซื้อ
มาเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ด้วยมูลค่า 440,000 บาท ส่วนราคาที่เหลืออีกร้อยละ 85 บริษัทฯ จะบันทึก
บัญชีเป็นเจ้าหนี้เช่าซื้อบริษัทเงินทุน ได้หรือไม่ และบริษัทฯ จะต้องบันทึกบัญชีรถกระบะเป็นทรัพย์สิน ณ
วันใด และบันทึกอย่างไร
2. กรณีบริษัทฯ ผ่อนชำระเงินงวดค่าเช่าซื้อรถกระบะกับบริษัทเงินทุน บริษัทฯ มีสิทธิขอคืน
ภาษีซื้อตามใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัทเงินทุน หรือไม่
3. บริษัทฯ จะคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถกระบะตาม 1. อย่างไร และหากใน
รอบระยะเวลาบัญชีแรกบริษัทฯ เช่าซื้อรถกระบะโดยมีระยะเวลาไม่ครบ 1 ปี บริษัทฯ จะคิดหัก
ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาอย่างไร
4. กรณีบริษัทฯ ได้เช่าซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพื่อใช้ในการประกอบกิจการการให้เช่ารถยนต์
โดยมีการชำระเงินดาวน์และชำระราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ผ่านบริษัทเงินทุน บริษัทฯ จะมีวิธีการบันทึกบัญชี
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ และคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเช่นเดียวกับการซื้อรถ
กระบะด้วยวิธีเช่าซื้อข้างต้นหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่ารถกระบะและรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดหา
รถกระบะและรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ โดยการเช่าซื้อ รถกระบะ
และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลดังกล่าวถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่จ่ายไปเพื่อ
การได้มาซึ่งรถกระบะและรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนั้นมาถือเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินทั้งสิ้นไม่ว่าจะแยก
เรียกบางส่วนเป็นดอกเบี้ยหรืออย่างอื่นก็ตาม โดยในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถกระบะ
และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลดังกล่าว บริษัทฯ ต้องนำราคารถกระบะและรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่พึงต้องชำระ
ทั้งสิ้น (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราไม่เกินร้อยละของมูลค่าต้นทุนตาม
ประเภทของทรัพย์สิน แต่จะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยให้คำนวณหักตาม
ระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นรายวัน ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 มาตรา 5
และมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหัก
ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 สำหรับการบันทึกทางบัญชี บริษัทฯ
ต้องถือปฏิบัติตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป
2. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการเช่ารถกระบะและรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ
และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลดังกล่าวจึงเป็นรถที่มีไว้เพื่อการให้บริการเช่ารถยนต์ของบริษัทฯ เองโดยตรง
ภาษีซื้อที่เกิดจากการเช่าซื้อรถกระบะและรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนั้น จึงเป็นภาษีซื้อที่ไม่ต้องห้ามให้นำมาหัก
ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไป
หักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม
พ.ศ. 2535 บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ได้รับจากบริษัทเงินทุนธนชาติฯ มาหักออกจาก
ภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/32885


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020