เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2665
วันที่: 17 มีนาคม 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินสะสมให้พนักงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (13)
ข้อหารือ: บริษัท ก. จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2537 มีบริษัท ข. จำกัด ถือหุ้น 99.99%
คณะผู้บริหารเห็นว่าในอนาคตธุรกิจด้านออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าจะมีการขยายตัว บริษัท ข. จึงได้
ตั้งบริษัท ก. ขึ้นมารับงานนี้ พร้อมทั้งได้โอนย้ายพนักงานไปเป็นพนักงานของบริษัท ก. ภายใต้เงื่อนไข
ว่าบริษัท ก. ต้องรับโอนทั้งอายุงานและสวัสดิการต่าง ๆ ที่พนักงานได้รับเสมือนหนึ่งเป็นพนักงานของ
บริษัท ข. บริษัท ก. มีระเบียบการจ่ายเงินสะสมให้พนักงานเมื่อลาออก ซึ่งบริษัท ก. เป็นผู้จ่าย
ฝ่ายเดียวโดยมีเงื่อนไขการคำนวณดังนี้
- พนักงานที่มีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี
เงินสะสม = ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุงาน
- พนักงานที่มีอายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
เงินสะสม = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุงานแต่ไม่เกิน 16 ปี
บริษัท ก. มีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจหลายปีจึงได้ประกาศยกเลิกระเบียบการจ่ายเงินสะสมตั้งแต่
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 และจ่ายเงินสะสมเดือนธันวาคม โดยถือเป็นรายจ่ายทางภาษีทั้งจำนวน จึง
ขอหารือว่า
1. บริษัท ก. สามารถนำเงินสะสมทั้งจำนวนที่จ่ายให้พนักงาน โดยเริ่มนับอายุงานตั้งแต่ได้
รับการบรรจุเป็นพนักงานของบริษัท ข. มาเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัท ก. ได้
หรือไม่
2. บริษัท ก. มีระเบียบการจ่ายเงินสะสมหรือเงินได้อื่น ๆ ให้แก่พนักงาน บริษัท ก.
สามารถนำจำนวนเงินดังกล่าวมาถือเป็นค่าใช้จ่าย ในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัท ก. ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: หากบริษัท ก. จ่ายเงินสะสมดังกล่าวให้แก่พนักงานเมื่อพนักงานลาออก บริษัท ก.สามารถนำ
เงินสะสมที่จ่ายนั้นมาถือเป็นรายจ่ายได้ เนื่องจากเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะไม่ต้องห้ามไม่ให้ถือ
เป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/32856


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020