เลขที่หนังสือ | : กค 0706/3079 |
วันที่ | : 29 มีนาคม 2547 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีจ่ายค่าตอบแทนแพทย์และเจ้าพนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(1), มาตรา 40(2) |
ข้อหารือ | : กระทรวงฯ ได้วางระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของแพทย์และเจ้าพนักงานผู้ได้ทำการชันสูตรพลิกศพฯ และ ระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนแก่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ที่เข้าร่วมใน การร้องทุกข์ การสอบสวนฯ ขึ้นใช้บังคับมีผลให้หน่วยงานต้องเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้แก่แพทย์และ เจ้าพนักงานและนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ที่เข้าร่วมในการร้องทุกข์ และการสอบสวน ซึ่ง ค่าตอบแทนตามระเบียบฯ ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเงินได้ เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจาก การรับทำงานให้ทั้งที่เป็นการประจำ และเป็นการชั่วคราว ค่าตอบแทนดังกล่าวจึงถือเป็น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ซึ่งส่วนใหญ่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่ง ประมวลรัษฎากร ซึ่งคำนวณหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 42 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ไว้แล้ว จึงไม่สามารถนำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร มาคำนวณหัก ค่าใช้จ่ายได้อีก ดังนั้น ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีการจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าป่วยการให้แก่แพทย์และเจ้าพนักงานที่ทำการชันสูตรพลิกศพ หรือการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ที่เข้าร่วมในการร้องทุกข์ การสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าแพทย์ เจ้าพนักงาน นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์นั้นได้รับเงินเดือนประจำ จากผู้จ่ายซึ่งเป็นนายจ้างอยู่แล้ว ค่าตอบแทนหรือค่าป่วยการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้าผู้รับเงินได้ดังกล่าวมิได้รับเงินเดือนประจำจากผู้จ่ายหรือมิได้เป็นลูกจ้างของ ผู้จ่าย แต่มาปฏิบัติงานเป็นครั้งคราว ค่าตอบแทนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่ง ประมวลรัษฎากร เช่นเดียวกัน 2. กรณีการจ่ายค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางให้แก่แพทย์หรือเจ้าพนักงานที่ทำการชันสูตร พลิกศพตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(2) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 67/32882 |