เลขที่หนังสือ | : กค 0706/2055 |
วันที่ | : 1 มีนาคม 2547 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามคำสั่งศาล |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 49 ทวิ, มาตรา 1299 และมาตรา 1330 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
ข้อหารือ | : กรมที่ดินแจ้งว่า สำนักงานผู้ซื้อทอดตลาดขอให้กรมที่ดินพิจารณาเรียกเก็บ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีผู้ซื้อทอดตลาดขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดิน ที่ซื้อได้จาก การขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจะนับระยะเวลาการได้มาและ การถือครองที่ดินอย่างไร เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรมว่าผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเสียชีวิตก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทอดตลาด พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนเห็นว่าควรนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่มรดกตกทอดแก่ทายาทของ ผู้ถือกรรมสิทธิ์จนถึงวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทอดตลาด แต่ผู้ซื้อทอดตลาดเห็นว่า ขณะที่ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทอดตลาด ผู้ถือกรรมสิทธิ์ยังมีชีวิตอยู่ จึงควร เรียกเก็บภาษีโดยพิจารณาว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ที่ดินมาเมื่อไร และถือครองมาจนถึงวันที่จดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์กี่ปี กรมที่ดินจึงหารือว่าในทางปฏิบัติการเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทอดตลาดตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของ ศาลดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนจะเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : กรณีผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต และศาลจังหวัดฯ มีคำสั่งให้ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อทอดตลาด เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2543 ผู้ซื้อทอดตลาดย่อมได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามมาตรา 1330 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ยังไม่ได้จดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ก็ไม่ทำให้การได้มาเป็นโมฆะ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนมิได้จนกว่าจะได้ จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 1299 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อผู้ซื้อทอดตลาดไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรมภายหลังจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ถึงแก่ความตาย การนับจำนวนปีที่ถือครองที่ดินจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่ปีที่ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้รับมรดกในปี 2527 ถึงปีที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต้องถือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอน ตามมาตรา 49 ทวิ แห่ง ประมวลรัษฎากร และให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ของเงินได้ เหลือเท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิ แล้วหาร ด้วยจำนวนปีที่ถือครอง กรณีถือครองเกิน 10 ปี ให้นับเพียง 10 ปี ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้คำนวณ ตามอัตราภาษีเงินได้ ได้เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง (10 ปี) ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเงินภาษีที่ต้องเสีย ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(4)(ก) และมาตรา 50(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 67/32851 |