เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./1312
วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจัดทำใบกำกับภาษีรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86/4, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39)ฯ, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคแจ้งว่า บริษัท ก. ได้ขอผ่อนผันการจัดทำใบกำกับภาษีรวมกับเอกสาร
ทางการค้าอื่น โดยมีข้อความไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
1. บริษัทฯ ได้สั่งพิมพ์ใบกำกับภาษีรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น ได้แก่ ใบส่งสินค้า
ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน จากโรงพิมพ์จำนวน 3,000 ชุด โดยใบกำกับภาษีมิใช่เอกสารฉบับแรกของ
เอกสารชุดดังกล่าว แต่โรงพิมพ์มิได้พิมพ์ข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ไว้ในเอกสารแต่ละฉบับของ
เอกสารชุดดังกล่าว และไม่ได้พิมพ์ข้อความว่า "ไม่ใช่ใบกำกับภาษี" ไว้ในต้นฉบับของเอกสารฉบับอื่นซึ่ง
มิใช่ฉบับที่เป็นใบกำกับภาษี บริษัทฯ จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณาผ่อนผันให้บริษัทฯ ใช้เอกสารที่จัดพิมพ์
ไว้ดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะหมด เนื่องจากหากบริษัทฯ ต้องสั่งพิมพ์เอกสารใหม่จะทำให้บริษัทฯ มีภาระ
ค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทฯ จะพิมพ์ข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" และ "ไม่ใช่
ใบกำกับภาษี" ด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมในเอกสารชุดดังกล่าว
2. ต่อมา บริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า
บริษัทฯ ได้สั่งพิมพ์แบบฟอร์มใบกำกับภาษีและเอกสารทางการค้าอื่นจากโรงพิมพ์ โดยแบบฟอร์มดังกล่าว
ตีพิมพ์ข้อความว่า "ใบกำกับภาษี" "ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร" ของบริษัทฯ ซึ่งมีหน้าที่
จัดทำใบกำกับภาษี แต่ไม่ได้ตีพิมพ์ข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" และ "ไม่ใช่ใบกำกับภาษี" โดย
บริษัทฯ ได้ใช้แบบฟอร์มเอกสารดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2546 รวมจำนวนทั้งสิ้น
20 ชุด และตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2546 เป็นต้นมา บริษัทฯ ได้พิมพ์ข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด"
และ "ไม่ใช่ใบกำกับภาษี" และรายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ลงในแบบฟอร์ม
ใบกำกับภาษีและเอกสารทางการค้าอื่นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตามตัวอย่างเอกสารที่บริษัทฯ ส่งให้
ประกอบการพิจารณา จึงหารือว่า
(1) กรณีการออกใบกำกับภาษีสำหรับเดือนพฤษภาคม 2546 ตามตัวอย่างเอกสารออก
เป็นชุดที่บริษัทฯ ส่งให้กรมสรรพากรพิจารณานั้น จะถือว่าใบกำกับภาษีและเอกสารทางการค้าอื่นมี
รายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
(2) กรณีบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีและเอกสารทางการค้าอื่นให้แก่บริษัท ผู้ซื้อสินค้าไป
แล้วจำนวน 20 ฉบับ โดยไม่มีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" และ "ไม่ใช่ใบกำกับภาษี" จะถือว่า
เอกสารที่ออกให้กับลูกค้าดังกล่าวมีสาระสำคัญถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และหาก
ไม่ถูกต้อง บริษัทฯ จะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีการจัดทำใบกำกับภาษีของเดือนพฤษภาคม 2546 ตามตัวอย่างเอกสารที่บริษัทฯ ส่ง
ไปเพื่อประกอบการพิจารณา ปรากฏว่า บริษัทฯ จัดพิมพ์แบบฟอร์มใบกำกับภาษีรวมกับเอกสารทางการค้า
อื่น ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน และใบกำกับภาษีมิใช่เอกสารฉบับแรกของเอกสารดังกล่าว
โดยแบบฟอร์มใบกำกับภาษีดังกล่าวตีพิมพ์ข้อความว่า "ใบกำกับภาษี" "ชื่อ ที่อยู่ และ
เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร" ของบริษัทฯ และ "สำเนา" มาจากโรงพิมพ์ ส่วนข้อความว่า "เอกสาร
ออกเป็นชุด" "ไม่ใช่ใบกำกับภาษี" และรายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
จัดพิมพ์ขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งการจัดทำใบกำกับภาษีดังกล่าว มีลักษณะเป็นการกรอกข้อความใน
แบบฟอร์มด้วยระบบคอมพิวเตอร์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน และมีข้อความถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 86/4
แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39)
เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24
สิงหาคม พ.ศ. 2535 กรณีจึงถือได้ว่าบริษัทฯ ได้จัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ซื้อสินค้าที่ได้รับ ใบกำกับภาษีดังกล่าวจึงมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อใน
การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ
2(6) และ (12) ของประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง
การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
2. กรณีบริษัทฯ ได้จัดทำใบกำกับภาษีรวมกับเอกสารทางการค้าอื่นและส่งมอบ ใบกำกับภาษี
ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าในเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2546 จำนวน 20 ฉบับ โดยเอกสารชุด ดังกล่าวไม่มี
ข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" และ "ไม่ใช่ใบกำกับภาษี" เนื่องจากการจัดทำ ใบกำกับภาษีรวมกับ
เอกสารทางการค้าอื่น ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน โดยใบกำกับภาษีไม่ใช่เอกสารฉบับแรก
ของเอกสารดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ในเอกสาร ทุกฉบับของเอกสารชุด
ดังกล่าวด้วย โดยข้อความดังกล่าวจะต้องตีพิมพ์ขึ้น หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณี
จัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ จะประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือ
กระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้ ทั้งนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39)ฯ ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ประกอบกับบันทึกซ้อม
ความเข้าใจที่ กค 0811/พ.4510 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2540 เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซ้อม
ความเข้าใจกรณีการจัดทำใบกำกับภาษีรวมกับเอกสารทางการค้าอื่นในลักษณะเอกสารออกเป็นชุด ซึ่ง
กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้จัดทำใบกำกับภาษีรวมกับเอกสาร ทางการค้าอื่น โดยใบกำกับภาษี
ดังกล่าวไม่มีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" กรณีจึงถือได้ว่าบริษัทฯ ได้จัดทำใบกำกับภาษีโดยมี
รายการไม่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39)ฯ ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่ง
เป็นผู้ซื้อสินค้าจึงไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องห้ามตามมาตรา
82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(6) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
อย่างไรก็ตาม กรณีข้างต้นหากบริษัทฯ ได้รับการร้องขอจากผู้ซื้อสินค้าให้ยกเลิกใบกำกับภาษี
ดังกล่าว และออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องแทนฉบับที่ถูกยกเลิก ให้บริษัทฯ ดำเนินการดังนี้
(1) เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิม และนำมาประทับตราว่า "ยกเลิก" หรือ ขีดฆ่าและเก็บ
รวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม
(2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ โดยระบุวัน เดือน ปี
ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม
(3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า "เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่
แทนฉบับเดิมเลขที่ ... เล่มที่ ... "
(4) หมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่
จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย
(5) แจ้งให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งได้ส่งมอบใบกำกับภาษีฉบับเดิมให้แก่บริษัทฯ ถ่ายเอกสาร
ใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ยกเลิกเก็บไว้ ณ สถานประกอบการของผู้ซื้อสินค้า
เลขตู้: 67/32817


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020