เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./1308
วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีทรัพย์สินเกิดอุบัติเหตุ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี, มาตรา 77/1(8), มาตรา 77/1(9), มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2, มาตรา 79, มาตรา 79/3(1)
ข้อหารือ: บริษัท ร. ประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องบันทึกการเก็บเงิน เครื่องกดน้ำ ตู้นึ่งซาลาเปา
เตาไมโครเวฟ ซึ่งอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ในการประกอบกิจการบริษัทฯ ได้มีการให้บริการบำรุงรักษา
สินค้าที่บริษัทฯ ได้จำหน่ายให้แก่ลูกค้าด้วย ในการให้บริการดังกล่าวพนักงานช่างของบริษัทฯ จะทำการ
เบิกอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องมือจากบริษัทฯ เพื่อใช้ในการให้บริการ ในการให้บริการในบางครั้งรถของ
ช่างที่ให้บริการได้เกิดอุบัติเหตุทำให้อะไหล่และอุปกรณ์เครื่องมือเสียหายหรือสูญหาย บริษัทฯ ได้มีการทำ
ประกันภัยทรัพย์สินไว้กับบริษัทประกันภัยโดยกำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบในส่วนแรกของผู้เอาประกันภัย
ไว้ที่ USD 5,000 ต่อการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ความเสียหายส่วนที่ไม่เกินหรือต่ำกว่า USD 5,000
บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบเอง จึงขอหารือดังนี้
1. บริษัทฯ สามารถตัดจ่ายทรัพย์สินหรืออะไหล่ในคลังสินค้าเป็นรายจ่ายได้หรือไม่ และต้อง
นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ หากต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มฐานภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของ
ทรัพย์สินหรืออะไหล่จะใช้มูลค่าสุทธิของทรัพย์สิน มูลค่าต้นทุนของอะไหล่หรือจะต้องใช้ราคาตลาดของ
ทรัพย์สินและอะไหล่นั้น
2. ในบางกรณีบริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพนักงานที่รับผิดชอบหากพบ
ว่าความเสียหายเกิดจากความผิดของพนักงานนั้น ในกรณีเช่นนี้บริษัทฯ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก
พนักงานผู้นั้นและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมออกใบกำกับภาษีใช่หรือไม่ โดยฐานภาษีมูลค่าเพิ่มใช้ฐานใด
ตามข้อ 1.
3. กรณีตามข้อ 1. ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และปรากฏว่าบริษัทฯ สามารถเรียกเก็บจาก
พนักงานได้บางส่วน บริษัทฯ จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงบางส่วนที่เรียกเก็บได้จากพนักงาน
ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีที่ทรัพย์สินหรืออะไหล่ชำรุดหรือเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ บริษัทฯ จะนำต้นทุนที่
เหลืออยู่ของทรัพย์สินหรืออะไหล่นั้น ตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้ แต่หากได้ทำลายหรือขายไปซึ่ง
ทรัพย์สินหรืออะไหล่นั้น ก็สามารถตัดต้นทุนที่เหลืออยู่ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่ง
ประมวลรัษฎากร และกรณีที่มีการขายซากทรัพย์สินหรืออะไหล่ของสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ จะต้อง
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าในราคาตามสภาพของสินค้าและนำมารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ด้วย
2. กรณีทรัพย์สินหรืออะไหล่สูญหาย หากไม่มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ มูลค่าต้นทุนที่
เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้น ถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบการ บริษัทฯ มีสิทธิตัดเป็นรายจ่ายได้ทั้ง
จำนวน แต่บริษัทฯ จะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินนั้นได้สูญหายจริง และ
ทรัพย์สินหรืออะไหล่ที่สูญหายดังกล่าว ถือเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ในกิจการ เข้า
ลักษณะเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1(8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทจึงมีหน้าที่ต้อง
เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของทรัพย์สินตามราคาตลาดของทรัพย์สินหรืออะไหล่ที่สูญหายไปดังกล่าว ตาม
มาตรา 79 และมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีที่บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากพนักงานที่รับผิดชอบหากพบว่าความ
เสียหายเกิดจากความผิดของพนักงานนั้น ค่าเสียหายดังกล่าวมิใช่มูลค่าที่บริษัทฯ ได้รับจากการขายสินค้า
หรือการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(8) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/32813

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020