เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/1020
วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2547
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและการคืนเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ซื้อจากการส่งสินค้าไปต่างประเทศและตรวจพบสาร ANTIBIOTIC
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/10
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิต ขายปลีกและส่งออก สินค้าอาหารสำเร็จรูป ใน
การประกอบกิจการบริษัทฯ ได้มีการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปไปยังประเทศอังกฤษ โดยมีการส่ง
ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการส่งออกสินค้าเอง
2. บริษัทฯ ขายผ่านสินค้าให้กับลูกค้าภายในประเทศและลูกค้าเป็นผู้ดำเนินการส่งออกสินค้า
ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอังกฤษ ประเทศอังกฤษได้มีบทบัญญัติในเรื่องต้นกำเนิดสินค้า
ผลิตภัณฑ์สัตว์ โดยสินค้าที่จะนำเข้าไปในประเทศอังกฤษจะต้องผ่านการตรวจสอบสารตกค้างในสินค้า
ประเภทกุ้งและไก่จาก ENVIRONMENTAL HEALTH (PORT HEALTH) SERVICE ซึ่งเป็นหน่วยงานที่
จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงของ EU Committee และบทบัญญัติดังกล่าวจะประกาศต่อสาธารณชน โดย Her
Majestic Stationery's Office และถ้าสินค้าใดถูกตรวจพบสารตกค้างจะถูกทำลาย และผู้ส่ง
สินค้าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำลายสินค้าดังกล่าวในการตรวจสอบสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป
ที่ทำจากกุ้งและไก่ของบริษัทฯ ที่ส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ ปรากฏว่าพบสาร ANTIBIOTIC ซึ่งทาง
ENVIRONMENTAL HEALTH (PORT HEALTH) SERVICE ได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบพร้อมกับแจ้ง
การทำลายสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. กรณีสินค้าของบริษัทฯ ถูกทำลาย บริษัทฯ สามารถนำมูลค่าของสินค้าที่ถูกทำลายดังกล่าว
และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการทำลายสินค้ามาถือเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่ และถ้าถือเป็น
รายจ่ายได้เอกสารที่แจ้งว่าสินค้าของบริษัทฯ พบสาร ANTIBIOTIC และแจ้งทำลายสินค้าที่
ENVIRONMENTAL HEALTH (PORT HEALTH) SERVICE เป็นผู้แจ้งนั้น บริษัทฯ สามารถใช้เป็น
หลักฐานในการลงเป็นรายจ่ายได้หรือไม่
2. กรณีบริษัทฯต้องคืนเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในประเทศอังกฤษ หรือผู้ซื้อสินค้าในประเทศไทย
ที่ซื้อสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ บริษัทฯ จะต้องออกใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 แห่ง
ประมวลรัษฎากรหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่ทำจากกุ้งและไก่ของบริษัทฯ ถูกตรวจพบสาร
ANTIBIOTIC และ ENVIRONMENTAL HEALTH (PORT HEALTH) SERVICE ได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบ
พร้อมกับแจ้งการทำลายสินค้า หากบริษัทฯ ได้รับรู้รายได้จากการส่งออกสินค้าดังกล่าวแล้ว มูลค่าของ
สินค้าที่ถูกทำลาย และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำลายสินค้าดังกล่าวในต่างประเทศ บริษัทฯ ย่อมนำมาถือ
เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี
(13) และ (14) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เอกสารหลักฐานของค่าใช้จ่ายดังกล่าวต้องเป็นหลักฐานที่
ชัดแจ้ง สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นรายจ่ายที่แท้จริงของกิจการ โดยมีหลักฐานหรือหนังสือรับรองโดย
เจ้าหน้าที่ของต่างประเทศที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือโดยบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรเชื่อถือ แสดงได้ว่ามี
การทำลายสินค้าจริง และมีค่าใช้จ่ายในการทำลายสินค้าเกิดขึ้นจริง
2. กรณีบริษัทฯ คืนเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในประเทศอังกฤษ เนื่องจากสินค้าถูกทำลาย จาก
การตรวจพบสาร ANTIBIOTIC กรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณ
จากมูลค่าของสินค้าส่งออกลดลงตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการขายสินค้าโดย
การส่งออกต้องคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามราคา เอฟ.โอ.บี. ตามมาตรา 79/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ไม่ใช่มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับหรือพึงได้รับจาการขายสินค้าตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง
อาจมีการคำนวณราคาสินค้าเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา
86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัทฯ คืนเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าในประเทศไทยที่ซื้อสินค้าดังกล่าวจากบริษัทฯ
เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศโดยไม่มีการรับคืนสินค้า เนื่องจากสินค้าถูกทำลายในต่างประเทศจาก
การตรวจพบสาร ANTIBIOTIC กรณีดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะออกใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 (1)
(2) (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิออกใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10
แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/32797

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020