เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./6725
วันที่: 22 กรกฎาคม 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีค่าตอบแทนจากการหาลูกค้าให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 77/2(1), มาตรา 78/1(1), มาตรา 79, มาตรา 82, มาตรา 82/3, มาตรา 85/6, มาตรา 86
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคแจ้งว่า ได้ตอบข้อหารือภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณี
ค่าตอบแทนจากการหาลูกค้าให้กับบริษัทแม่ในต่างประเทศ ราย บริษัท น. ว่าบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำ
ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่บริษัทแม่โอนมาให้แก่บริษัทฯ มาเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79
และมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และมี
หน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทฯ ไม่เห็นด้วยพร้อมทั้ง
ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่บริษัทแม่ในประเทศไต้หวันโอนมาให้ ได้แก่ ค่าเช่า
เงินเดือน ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และสำนักงาน
สรรพากรภาคยังคงมีความเห็นเช่นเดียวกับที่ได้ตอบข้อหารือบริษัทฯ ไปแล้ว
แนววินิจฉัย: ค่าใช้จ่ายที่บริษัทแม่ในประเทศไต้หวันโอนมาให้บริษัทฯ ในประเทศไทยถือเป็นค่าตอบแทนจาก
การให้บริการ ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการและให้บริการในราชอาณาจักร จึงมีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีจากการ
ให้บริการทุกครั้งและส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นให้แก่บริษัทแม่ในต่างประเทศในทันทีที่ความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ คือวันที่บริษัทแม่ในต่างประเทศโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทฯ ตามมาตรา
78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีบริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มิได้ประกอบกิจการตาม
ประเภทกิจการที่ได้จดทะเบียนไว้ บริษัทฯ จะต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงรายการตามแบบ ภ.พ.09 ณ สถานที่
ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามมาตรา 85/6
แห่งประมวลรัษฎากร และเงินจำนวนดังกล่าวที่บริษัทฯ ได้รับถือเป็นเงินได้ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย
เลขตู้: 66/32566


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020