เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6727
วันที่: 22 กรกฎาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินประกันค่าเสียหายตามคำสั่งศาล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ท. ได้ทำสัญญาลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 กับบริษัท อ. (บริษัทฯ) อนุญาตให้
ประกอบกิจการบริการรถยนต์บริการธุรกิจรับ-ส่งผู้โดยสาร ต่อมาได้แจ้งยกเลิกสัญญากับบริษัทฯ โดยให้มี
ผลตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป บริษัทฯ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง พร้อมทั้งยื่นคำร้อง
ฉุกเฉินต่อศาลให้คุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี โดยขอให้บริษัทฯ ยังคงประกอบกิจการตาม
สัญญาต่อไปได้เป็นการชั่วคราว โดยบริษัทฯ จะต้องวางเงินประกันค่าเสียหายต่อศาลทุกเดือนเท่ากับ
จำนวนเงินค่าตอบแทนและเงินอื่นใดตามเงื่อนไขในสัญญานับแต่วันที่บริษัท ท. ได้รับคำสั่งศาลเป็นต้นไป
(คำสั่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543)
บริษัท ท. ได้แจ้งจำนวนเงินประกันค่าเสียหายให้คู่สัญญาทราบเพื่อนำไปวางต่อศาลโดยการ
ออกใบแจ้งหนี้พร้อมแนบรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่อเดือนของบริษัทฯ ซึ่งประกอบด้วย ค่าเช่า ค่า
ผลประโยชน์ตอบแทน ค่าสาธารณูปโภคและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นประจำทุกเดือน โดยบริษัทฯ นำ
เงินไปวางต่อศาลแทนการชำระเงินโดยตรง โดยบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนประจำเดือน ตาม
เงื่อนไขในสัญญาได้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินดังกล่าว ส่วนที่เหลือนำไปวางต่อศาลตามปกติ พร้อมทั้ง
นำส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 จนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากเงินประกันค่าเสียหายที่คู่สัญญาวางไว้ต่อศาลตามคำสั่งศาลแพ่ง ลงวันที่ 17
กุมภาพันธ์ 2543 นับแต่วันที่คำสั่งศาลมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบันนั้น บริษัท ท. ยังไม่สามารถติดต่อขอรับ
จากศาลได้ จนกว่าผลการพิจารณาคดีระหว่าง บริษัท ท. กับบริษัทฯ จะสิ้นสุดลง
แนววินิจฉัย: กรณีตามคำสั่งของศาลแพ่งเรื่องการคุ้มครองชั่วคราวบริษัทฯ ต้องวางเงินประกันค่าเสียหาย
ต่อศาล ซึ่งประกอบด้วยค่าเช่า ค่าผลประโยชน์ตอบแทน ค่าสาธารณูปโภค และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
แทนการชำระเงินให้แก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยตรง แต่บริษัท ท่าอากาศยาน
ไทยฯ ยังไม่สามารถรับเงินได้ จนกว่าผลการพิจารณาคดีจะสิ้นสุดลง ดังนั้น เมื่อคดียังอยู่ระหว่าง
การพิจารณาคดีของศาล และคดียังไม่สิ้นสุด เงินวางประกันดังกล่าวจึงยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท
ท่าอากาศยานไทยฯ กรณีตามข้อเท็จจริงแยกพิจารณาได้ดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ ต้องรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ ตาม
มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบบัญชีที่การให้บริการสิ้นสุด
ลง หรือตามส่วนของบริการที่ทำในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ ตามข้อ 4.6 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป. 1/2528 ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อเงินประกันที่บริษัท อ. นำไปวางที่ศาลยังไม่ตกเป็น
กรรมสิทธิ์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ แต่เป็นการวางเงินประกันเพื่อการชำระค่าสินไหมทดแทน
ความเสียหายที่จำเลยอาจได้รับ จึงยังไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าบริการที่จะต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย แต่อย่างใด บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ จึงไม่มีสิทธินำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมาเครดิตภาษีใน
การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อเงินประกันที่วางศาลยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ท่าอากาศยาน
ไทยฯ เท่ากับยังไม่ได้รับชำระค่าบริการ ยังไม่มีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่มีหน้าที่ต้อง
ออกใบกำกับภาษี และใบเสร็จรับเงินแต่อย่างใด
เลขตู้: 66/32568

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020