เมนูปิด

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 218 (พ.ศ. 2542)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออก กฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกความในข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 216 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                      “ข้อ 2  การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 6 ทวิ ข้อ 6 ตรี ข้อ 6 จัตวา และข้อ 7”

 

                ข้อ 2  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6 จัตวา แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

                      “ข้อ 6 จัตวา  การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ในส่วน ของหนี้ที่ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของ สถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม ให้กระทำได้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6 ทั้งนี้ เฉพาะการปลดหนี้ที่ ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542

                            “สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน และบริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือบริษัทเครดิต ฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิต ฟองซิเอร์ และให้หมายความรวมถึงสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทย

                            “เจ้าหนี้อื่น” หมายความว่า เจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งได้ ดำเนินการเจรจาร่วมกับสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และได้ ทำความตกลงเป็นหนังสือร่วมกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน

                            “ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบัน การเงินด้วย และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ด้วย”

 

                ข้อ 3  ให้ยกเลิกความในข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 216 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                      “ข้อ 7  หนี้ของลูกหนี้รายใดที่เข้าลักษณะตามข้อ 3 และได้ดำเนินการ ตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 6 ทวิ ข้อ 6 ตรี หรือข้อ 6 จัตวา ครบถ้วนแล้วในรอบระยะ เวลาบัญชีใด ให้จำหน่ายเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี นั้น เว้นแต่กรณีตามข้อ 5(2) และ (3) ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลได้ มีคำสั่งรับคำฟ้อง คำขอเฉลี่ยหนี้ หรือคำขอรับชำระหนี้ และกรณีตามข้อ 6 ตรี ให้ถือเป็น รายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ แล้วแต่กรณี”

 

                ข้อ 4  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542

 

ธารินทร์ นิมมานเหมินท์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

___________________________________________________________________

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้และหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลัก ประกันของสถาบันการเงิน เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน แต่เนื่องจากยังมีเจ้าหนี้อื่นที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดย นำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้ และ ได้มีการปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว แต่ทว่าไม่ สามารถจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการปรับปรุง โครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่น สมควรกำหนดให้เจ้าหนี้อื่นที่มิใช่สถาบันการเงินสามารถจำหน่าย หนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ตามประมวลรัษฎากร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 10 ก. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022