เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7057
วันที่: 24 กรกฎาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการพิจารณาเงินได้เพื่อประเมินภาษีอากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 155, มาตรา 172 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรจังหวัดได้หารือเกี่ยวกับการประเมินภาษีอากร ราย นางสาว พ. จาก
การตรวจสอบปรากฏว่า มีประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย คือ รายรับที่ได้จากการทำสัญญากับห้างฯ เป็น
รายได้จากการประกอบกิจการจ้างทำของหรือตัวแทน โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้ สำนักงานจังหวัดได้ทำ
สัญญาว่าจ้างห้างฯ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานสาขาตั้งอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี
ก่อสร้างศูนย์ราชการและต่อเติมปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัด ราคาตามสัญญา 66,480,000 บาท
โดยมีเงื่อนไขให้จ่ายค่าจ้าง 14 งวด และผู้รับจ้างจะต้องไม่เอางานทั้งหมดหรือบางส่วนไปจ้างช่วงอีก
ต่อหนึ่ง โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างก่อน แต่ห้างฯ ได้เอางานที่รับจ้างทั้งหมดไปทำ
สัญญาว่าจ้างช่วง และทำบันทึกข้อตกลงตั้งตัวแทนรับสภาพหนี้กับนางสาว พ. โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับได้
ลงวันที่วันเดียวกัน ต่อมาคู่สัญญาได้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารดังกล่าวว่า เป็นการ
ประกอบกิจการจ้างทำของหรือตัวแทน นางสาว พ.เป็นโจทก์ฟ้องห้างฯ คดีแพ่งหมายเลขดำอ้างว่าเป็น
ตัวแทน แต่ห้างฯ ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งอ้างว่าเป็นจ้างทำของ
แนววินิจฉัย: กรณีห้างฯ ได้ทำสัญญาจ้างช่วงและบันทึกข้อตกลงตั้ง ตัวแทนรับสภาพหนี้กับนางสาว พ. ตาม
ข้อเท็จจริงดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาจ้างช่วงไม่เข้าลักษณะเป็นนิติกรรมอำพราง ตามมาตรา
155 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะเดิมนางสาว พ. ตั้งใจไปขอกู้เงินจาก
ธนาคารฯ แต่ไม่ได้รับอนุมัติ เพื่อให้ได้เงินกู้และมีหลักฐานในการกู้เงิน จึงเป็นเหตุให้นางสาว พ.
ตกลงเปลี่ยนความตั้งใจเดิมยินยอมทำเป็นสัญญาจ้างช่วงเพื่อที่จะได้เงินกู้จากธนาคารฯ ตามที่ต้องการ
ถือได้ว่านางสาว พ. เปลี่ยนเจตนาเดิมมายินยอมผูกพันตามสัญญาจ้างช่วงโดยความสมัครใจ มิใช่
เกิดจากเจตนาลวงและมิใช่ นิติกรรมอำพรางนิติกรรมอันหลังคือบันทึก ดังนั้น นางสาว พ. จะยก
ความตั้งใจเดิมมาลบล้างสัญญาจ้างช่วงไม่ได้ ต้องบังคับตามสัญญาจ้างช่วง
กรมสรรพากรเป็นบุคคลภายนอกไม่เข้าลักษณะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงไม่มีหน้าที่ยกความ
เสียเปล่าแห่งนิติกรรมขึ้นกล่าวอ้าง แต่คู่กรณีเป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ทำลาย หรือขอ
ให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาจ้างช่วงได้ ตามมาตรา 172 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ คู่สัญญาเพียงแต่กล่าวอ้าง
กับเจ้าพนักงานกรมสรรพากร ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเท่านั้น ประกอบกับห้างฯ ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน
ค่าก่อสร้างหลังจากหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแล้วจำนวน 65,858,690.52 บาท และเงินช่วยเหลือ
ปรับปรุงค่างาน (ค่าเค) จำนวน 1,763,314.95 บาท ที่ได้รับจากสำนักงานจังหวัดตราดให้แก่
นางสาวเพ็ญศรีฯ ทั้งจำนวน ในชั้นนี้จึงต้องบังคับตามนิติกรรมอันแรก คือสัญญาจ้างช่วงและเข้าลักษณะ
เป็นการจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นางสาว พ.เป็นผู้ประกอบ
กิจการ มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม
เลขตู้: 66/32579


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020