เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7056
วันที่: 24 กรกฎาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีจ้างบุคคลเพื่อปฏิบัติงานในส่วนราชการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(2), มาตรา 50(1), มาตรา 50 ทวิ, มาตรา 52, มาตรา 53
ข้อหารือ: กรมฯ ได้จ้างบุคคลธรรมดาจำนวนประมาณ 300 ราย จากเงินงบประมาณในการดำเนินงาน
ของส่วนราชการในหมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุเพื่อทดแทนอัตรากำลังข้าราชการที่ได้มีการยุบเลิก
ตำแหน่งข้าราชการที่เกษียณอายุหรือไม่มีตำแหน่งข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการไม่สามารถ
ปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากปริมาณงานมีมาก สำหรับวิธีการจ้างให้ถือปฏิบัติตาม
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ โดยทำสัญญาจ้างเหมากำหนดคราวละ 6 เดือน ซึ่งผู้รับจ้าง
จะต้องปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ในสัญญาและส่งมอบงานภายในสิ้นเดือนของทุก ๆ เดือน และเมื่อผู้ว่าจ้าง
ผ่านการตรวจรับงานจากคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างเรียบร้อยแล้ว จะจ่ายค่าจ้างให้ซึ่งจะแบ่งจ่าย
เป็น 6 งวด ๆ ละเท่า ๆ กัน จึงขอหารือดังต่อไปนี้
1. ค่าจ้างที่จ่ายให้กับผู้รับจ้างถือว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 ประเภทใด และผู้รับจ้างจะ
ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ ประจำปีแบบใด
2. ค่าจ้างแต่ละงวดจะต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร
3. การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องออกเมื่อใด และแบบ
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มีลักษณะหรือข้อความอย่างไร
4. ในตอนสิ้นปีจะต้องยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีตามมาตรา 52
แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีกรมฯ ทำสัญญาจ้างเหมากำหนดคราวละ 6 เดือน โดยจ่ายค่าจ้างซึ่งแบ่งจ่ายเป็น 6
งวด ๆ ละเท่า ๆ กัน ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ในสัญญาและส่งมอบงานภายในสิ้นเดือน
ของทุก ๆ เดือน ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้มี
หน้าที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามแบบ ภ.ง.ด.90 เพื่อเสียภาษีสิ้นปี และ
ค่าจ้างแต่ละงวดที่จ่ายผู้จ่ายมีหน้าที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ออกภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของปีถัด
จากปีภาษี หรือภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากงานในระหว่างปีภาษีตามมาตรา
50 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้เป็นไปตาม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62)ฯ ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539
3. ถ้ามีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร และกรมฯ มิได้มี
การตั้งฎีกาเบิกเงิน ก็ต้องนำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปนำส่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือน
ที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 52 และมาตรา 53 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายฯ ลงวันที่ 24
กรกฎาคม พ.ศ. 2544 และในตอนสิ้นปีจะต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 58(1)
และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยยื่นรายการภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ทั้งนี้ ตาม
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการตามมาตรา 58 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526
เลขตู้: 66/32578


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020