เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.03)/767
วันที่: 8 กรกฎาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเครดิตภาษีเงินปันผล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (10), มาตรา 47 ทวิ
ข้อหารือ: กรณีที่บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิทางด้านบัญชี (ทางบัญชีภาษีอากรขาดทุน) ให้แก่
บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น ๆ ยังคงได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล ตามข้อ 11 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ป.119/2545 เรื่อง การเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 โดยเงินปันผลที่จ่ายบริษัทฯ ได้รับจากการลงทุนถือ
หุ้นในบริษัทร่วมแห่งหนึ่ง ซึ่งบริษัทฯ ทราบว่าบริษัทร่วมดังกล่าวได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราใด
ดังนั้น บริษัทฯ จึงสามารถระบุอัตราภาษีในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราเดียวกันกับที่บริษัท
ร่วมจ่ายเงินปันผล กรณีเช่นนี้ถือว่าบริษัทฯ ปฏิบัติถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้บุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้ตามมาตรา
40(4)(ข) ซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้รับเครดิตใน
การคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียหารด้วยผลต่างของ
หนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่ง
ของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินต้องระบุใน
หนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้น จำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้อง
เสียภาษีเงินได้ในอัตราใด
จุดประสงค์ของมาตรา 47 ทวิ นี้ ก็เพื่อต้องการขจัดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษี กล่าวคือ
เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้เสียภาษีจากกำไรสุทธิไปแล้วเท่าใด เมื่อจ่ายให้ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็น
บุคคลธรรมดา ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 10.0 ตามมาตรา 50(2)(จ) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และเมื่อบุคคลธรรมดาผู้รับเงินปันผลดังกล่าวเลือกคำนวณภาษีประจำปี จะต้องคำนวณ
เสียภาษีในอัตราก้าวหน้าอีก
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน จึงได้ให้เครดิตภาษีคืนให้แก่บุคคลธรรมดา ผู้ได้รับเงินปันผล
ในอัตราที่เท่ากันกับที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลได้เสียไป
2. การจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิทางด้านบัญชีที่คำนวณจากเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากเงิน
ลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย (Equity method) ซึ่งมิได้จัดเป็นรายการที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล อีก
ทั้งเงินปันผลจากบริษัทย่อยดังกล่าว บริษัทฯ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีรายได้อื่นอีก ทำให้ไม่มี
กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร บุคคลธรรมดาผู้รับเงินปันผลดังกล่าวจะ
มีสิทธิได้รับการเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
จะเห็นได้ว่าถึงแม้เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทย่อย บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวม
คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ตาม แต่เนื่องจากบริษัท
ย่อยได้มีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปก่อนแล้วจึงจ่ายเงินปันผลมายังบริษัทฯ ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่าย
เงินปันผลจากกำไรสุทธิทางด้านบัญชี (ที่คำนวณจากเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากเงินลงทุนจากบริษัทย่อย
ดังกล่าว) ให้แก่บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบุคคลดังกล่าว จึงมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตาม
มาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 11 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.119/2545 ฯ
ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
3. กรณีบริษัทฯ ทราบโดยชัดแจ้งว่า จ่ายเงินปันผลจากเงินกำไรหลังจากบริษัทย่อยเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราใด บริษัทฯ จะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่า
เงินปันผลที่จ่ายนั้น จำนวนใดมาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราใด
กรณีบริษัทฯ ไม่ทราบโดยชัดแจ้งว่าจ่ายจากเงินปันผลจากเงินกำไรหลังจากเสียภาษีอัตราใด
บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้จะต้องเฉลี่ยเงินปันผลตามส่วนของกำไรหลังจากเสียภาษีในแต่ละอัตราภาษี และจะ
ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินปันผลที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการ
ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด เทียบเคียงได้กับข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.119/2545 ฯ
ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
เลขตู้: 66/32560


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020