เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./12765 |
วันที่ | : 22 ธันวาคม 2546 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินชดเชยความเสียหาย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 79 |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ทำสัญญารับจ้างสร้างเรือลากจูงพร้อมอุปกรณ์จำนวน 1 ลำให้กับกองทัพเรือ ตาม สัญญาลงวันที่ 15 สิงหาคม 2540 และสัญญาแก้ไขเปลี่ยนแปลง ลงวันที่ 28 มกราคม 2542 ในราคา 71,150,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรและค่าใช้จ่ายทั้งปวง กำหนดเวลาส่งมอบเรือและรับ ชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายภายในวันที่ 12 เมษายน 2541 ต่อมามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 เห็นชอบให้มีการชดเชยความเสียหายแก่บริษัทฯ ผู้เป็นคู่สัญญากับกองทัพเรือที่ได้รับผลกระทบจาก การปรับปรุงระบบแลกเปลี่ยนเงินตราโดยบริษัทฯ ได้รับเงินชดเชยความเสียหาย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 กองทัพเรือได้หักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรในอัตรา ร้อยละ 1.0 ของเงินที่จ่ายบริษัทฯ ได้นำเงินชดเชยความเสียหายมายื่นเป็นมูลค่าของฐานภาษีในเดือน กรกฎาคม 2544 จึงขอทราบว่า 1. บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินชดเชยความเสียหายที่ได้รับหรือไม่ 2. หากไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะต้องดำเนินการอย่างไรในการขอคืน ภาษีมูลค่าเพิ่ม |
แนววินิจฉัย | : 1. เงินชดเชยความเสียหายที่บริษัทฯ ได้รับจากกองทัพเรือตามมติคณะรัฐมนตรีฯ เป็นเงินได้ รับภายหลังสัญญารับจ้างสร้างเรือลากจูงพร้อมอุปกรณ์ได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องตอบแทน หรือให้บริการหรือกระทำการใด ๆ จึงมิใช่มูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายหรือการให้บริการ ตาม มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษี 2. กรณีบริษัทฯ นำเงินชดเชยความเสียหายดังกล่าวมาเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามแบบ ภ.พ.30 ของเดือนกรกฎาคม 2544 ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับเงิน จึงถือว่าบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแสดงภาษีขายไว้เกิน หากยอดขายและยอดซื้อถูกต้องให้บริษัทฯ มีสิทธิยื่นคำร้อง ขอคืนภาษีตามแบบ ค.10 ภายในสามปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษี นั้นตามมาตรา 84/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 6.2(2) และข้อ 8.1 ของ ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2539 |
เลขตู้ | : 66/32759 |